กปน.แนะสำรองน้ำ หลังน้ำประปามีคลอไรด์เกินค่ามาตรฐาน

สังคม
28 มิ.ย. 64
14:35
6,232
Logo Thai PBS
กปน.แนะสำรองน้ำ หลังน้ำประปามีคลอไรด์เกินค่ามาตรฐาน
กปน.ชี้ฝนทิ้งช่วงตั้งแต่ปลายเดือน มิ.ย.ถึงกลางเดือน ก.ค. เริ่มพบสัญญาณน้ำประปาในกรุงเทพฯ เริ่มมีคลอไรด์เกิน 250 มก./ล. ทำให้รสชาติเปลี่ยนไป เนื่องจากน้ำในเขื่อนลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้อย และน้ำเค็มรุกล้ำบริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2564 นายรักษ์ศักดิ์ สุริยหาร รองผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มิ.ย. ถึงกลางเดือน ก.ค.2564 และปริมาณน้ำใช้การในเขื่อนลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้อย

ส่งผลต่อปริมาณน้ำที่ใช้ควบคุมค่าความเค็ม ณ สถานีสูบน้ำดิบสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี ทำให้ในช่วงนี้ น้ำประปาในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ มีรสชาติเปลี่ยนแปลงไปบางช่วงเวลา แต่น้ำประปายังคงสะอาดปลอดภัยตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก 

กปน.ปรับแผนกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และปริมาณการระบายน้ำของกรมชลประทาน เพื่อหลบเลี่ยงน้ำเค็ม ซึ่งสามารถหลบเลี่ยงได้สูงสุดประมาณ 4 ชั่วโมงเท่านั้น

กปน. ประสานความร่วมมือกับกรมชลประทาน เพื่อร่วมปฏิบัติการกระแทกน้ำ เพื่อผลักดันน้ำเค็มให้ไกลจากบริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

คาดการณ์น้ำประปา วันที่ 28 มิ.ย.

สำหรับพื้นที่สำนักงานประปาที่มีคลอไรด์เกิน 250 มก./ล. ส่งผลให้น้ำประปามีรสชาติเปลี่ยนแปลงไปในบางเวลา ได้แก่

สถานีสูบจ่ายน้ำบางเขน ประปาสาขาที่ได้รับผลกระทบคือ บางเขน ,ประชาชื่น ,นนทบุรี ,พญาไท  ในช่วงเวลา 17.00-23.00 น.

สถานีสูบจ่ายพหลโยธิน ประปาสาขาที่ได้รับผลกระทบคือ พญาไท ในช่วงเวลา 19.00-23.00 น.

สถานีสูบจ่ายลาดพร้าว ประปาสาขาที่ได้รับผลกระทบคือ ลาดพร้าว ,สุขุมวิท ในช่วงเวลา 22.00-23.00 น.

สถานีสูบจ่ายบางพลี ประปาสาขาที่ได้รับผลกระทบคือ สมุทรปราการ ,สุวรรณภูมิ ,พระโขนง ในช่วงเวลา 06.00-18.00 น.

สถานีสูบจ่ายลาดกระบัง ประปาสาขาที่ได้รับผลกระทบคือ สุวรรณภูมิ ,สุขุมวิท ,พระโขนง ในช่วงเวลา 10.00-14.00 น.

ขณะนี้ กปน. แจ้งรายงานภาพรวมการคาดการณ์คุณภาพน้ำประปาในเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ผ่านช่องทางโซเชียลของ กปน.ทุกวัน จนกว่าสถานการณ์คุณภาพน้ำจะคลี่คลาย เพื่อให้ประชาชนสามารถสำรองน้ำในช่วงปกติ (ค่าคลอไรด์ไม่เกิน 250 มก./ล.) ไว้สำหรับการบริโภค

 

ขอให้กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคไต โรคหัวใจ โรคความดันสูง โรคเบาหวาน ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก หลีกเลี่ยงการบริโภคบางช่วงเวลา

ทั้งนี้สามารถนำภาชนะมารับน้ำประปาดื่มได้ฟรี ที่สำนักงานประสาขาใกล้บ้าน และประชาชนยังสามารถดูคุณภาพน้ำประปาแบบ real-time ได้ทาง แอปพลิเคชัน MWA onMobile และเว็บไซต์ https://twqonline.mwa.co.th/ ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ผู้ป่วยความดัน โรคไต โรคหัวใจ แนะดื่มน้ำที่ผ่านระบบ RO

นพ.สุรเมธ อิสรานุวัฒน์ชัย อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า ทุกปีจะเจอปัญหาน้ำประปามีรสชาติเปลี่ยนไป เมื่อเกิดปัญหาของน้ำเค็มหนุนสูง น้ำประปาจะมีเกลือหรือโซเดียมคลอไรด์ในปริมาณมากขึ้น ซึ่งโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือที่แนะนำให้คนปกติรับประทานคือไม่เกิน 6 กรัมต่อวัน หรือคิดเป็นเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน

หากรับประทานเกลือมากเกินไป จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงในอนาคต โดยทั่วไปคนไทยมักเอาน้ำประปามาต้มหรือกรองก่อนดื่ม ซึ่งกระบวนการต้มหรือกรองไม่สามารถกำจัดโซเดียมคลอไรด์ออกจากน้ำประปาได้ ดังนั้นในภาวะน้ำทะเลหนุนสูง การดื่มน้ำประปา (แม้ว่าจะต้มหรือกรองแล้ว) จะทำให้ร่างกายได้รับปริมาณโซเดียมคลอไรด์ที่มากกว่าปกตินั่นเอง

สำหรับการดื่มน้ำประปาในคนปกติ ที่ตรวจสุขภาพประจำปีแล้วไม่มีโรคประจำตัว อาจไม่ทำให้เกิดความผิดปกติใด ๆ เนื่องจาก ไตที่ทำงานเป็นปกติจะสามารถขับโซเดียมและคลอไรด์ส่วนเกินออกจากร่างกายได้ เนื่องจากเกลือจากน้ำประปาจะเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับอาหารอื่น ๆ ที่คนเรารับประทานในแต่ละวัน ดังนั้นการดื่มน้ำประปาในภาวะน้ำทะเลหนุนสูงในคนปกติ จึงไม่ค่อยมีผลต่อสุขภาพมากนัก

แต่การดื่มน้ำในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต้องระวัง ผู้ป่วยที่แพทย์แนะนำให้ลดอาหารเค็ม หรือลดอาหารที่โซเดียมสูง เช่น ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคไต และผู้ป่วยโรคหัวใจ สามารถมีอาการของโรคกำเริบได้

หากมีภาวะโซเดียมเกิน เช่น ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง อาจมีความดันโลหิตสูงขึ้นและควบคุมความดันโลหิตได้ยากขึ้น ผู้ป่วยโรคไตและผู้ป่วยโรคหัวใจ อาจมีภาวะน้ำเกินหรือภาวะน้ำท่วมปอด ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำประปาในภาวะน้ำทะเลหนุนสูง

วิธีการที่สามารถกำจัดโซเดียมคลอไรด์ออกจากน้ำดื่มได้ดีคือ การใช้ระบบรีเวอร์สออสโมซิส (reverse osmosis: RO) ระบบ RO คือระบบที่ทำน้ำให้บริสุทธิ์ โดยการใช้แรงดันน้ำผ่านเยื่อเลือกผ่าน ระบบ RO นี้ เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดสารต่าง ๆ ออกจากน้ำโดยเฉพาะสารที่มีขนาดเล็กมาก เช่น โมเลกุลโซเดียมและคลอไรด์

ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคไต และผู้ป่วยโรคหัวใจ ดื่มน้ำที่ผ่านระบบ RO เช่น น้ำดื่มบรรจุขวด น้ำประปาที่ผ่านระบบ RO ที่บางบ้านอาจติดตั้งไว้ หรือตู้กดน้ำดื่ม RO ที่มีบริการในบางพื้นที่ จะปลอดภัยกว่าการดื่มน้ำประปาที่ผ่านการกรองหรือการต้มเท่านั้น

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง