ปัญหาอะไร ! ทำให้ กสทช.นำสายสื่อสารลงใต้ดินล่าช้า

สังคม
15 ธ.ค. 64
13:56
768
Logo Thai PBS
ปัญหาอะไร ! ทำให้ กสทช.นำสายสื่อสารลงใต้ดินล่าช้า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดแผน กสทช.นำสายสื่อสารลงดิน ปี 64 พบอุปสรรค 6 ด้าน ทำการดำเนินการล่าช้า สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำแผนปี 63 ล่าช้า เหตุเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ปฏิบัติงานไม่ได้ ต้องยกแผนปี 63 มาดำเนินการปี 64

จากกรณีปรากฏภาพในสื่อสังคมออนไลน์ ที่พบว่ามีสายสื่อสารพาดขวางทางขึ้นสะพานลอยบริเวณรถไฟฟ้าวงเวียนใหญ่ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการแก้ไข อย่างไรก็ตาม จากเอกสารพบว่า มีหลายสาเหตุที่ทำให้การดำเนินการนำสายสื่อสารลงดินล่าช้า

เตรียมนำสายสื่อสารลงดินตั้งแต่ปี 60 

สำนักงาน กสทช.ได้ดำเนินการจัดทำแผนนำสายสื่อสารลงดินตั้งแต่ปี 2560 โดยร่วมกับ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม

โดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มีคำสั่ง ที่ 774.01/2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานจัดระเบียบสายสื่อสารและการนำสายสื่อสารลงใต้ดินลงวันที่ 27 มิ.ย.2564 เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการจัดระเบียบสายสื่อสารและการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน และดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารลงใต้ดิน และการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ติดตาม และประเมินผล รวมถึงรายงานผลการดำเนินการให้ กสทช.ทราบ ตามที่ได้กำหนดร่วมกัน

ในปี 2564 จึงเห็นสมควรจัดทำแผนการนำสายสื่อสารลงดิน พ.ศ.2564 ขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบกิจการสื่อสาร และประสานการดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแผนงาน กิจกรรม ระยะเวลา กำหนดเวลาแล้วเสร็จ ให้ดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ทั้งนี้เพื่อปรับปรุงและปรับเปลี่ยน การพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าให้เป็นสายสื่อสารลงใต้ดินลดผลกระทบจากความขัดข้องสัญญาณ ปรับปรุงภูมิทัศน์ เพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่สูงขึ้นในอนาคต

อุปสรรค 6 ด้าน นำสายสื่อสารลงดินล่าช้า

จากเอกสารดังกล่าวยังระบุถึง การนำสายสื่อสารลงใต้ดินที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด แต่การดำเนินการมีความเสี่ยง ซึ่งส่งผลให้การนำสายสื่อสารลงใต้ดินไม่แล้วเสร็จตามแผน จากปัจจัยภายนอก 6 ด้าน คือ

1.การเข้าใช้พื้นที่ มีอุปสรรคในการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสาร การอนุญาตเข้าใช้พื้นที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ความไม่ชัดเจนในการอนุญาตว่าผู้ประกอบการใดจะเป็นผู้สร้าง เช่น การอนุญาตให้การไฟฟ้า แต่ไม่อนุญาตให้หน่วยงานสื่อสาร เกิดความไม่เท่าเทียม ทำให้เกิดความล่าช้าในการก่อสร้าง

2.การก่อสร้างท่อร้อยสาย เดิมหน่วยงานหลักในการก่อสร้างท่อร้อยสายคือ คือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เนื่องจากภาคเอกชนไม่สามารถดำเนินการได้ ในการก่อสร้างท่อร้อยสายในพื้นที่ต่าง ๆ ต่อมา กรุงเทพฯ เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการและมอบหมายให้ บริษัท กรุงเทพฯ ธนาคม จำกัด ดำเนินการแทน เพราะไม่มีเจ้าของงานที่ชัดเจน และเอกชนไม่สามารถเข้าแข่งขันด้านราคาได้

 

3.ความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ปฏิบัติงานไม่สามารถลงหน้างานได้ เนื่องจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ถ่ายทอดคำสั่งอนุญาตล่าช้า ถึงแม้จะมีหนังสือแจ้งหน่วยงานแล้วก็ตาม ลักษณะดังกล่าวเกิดกับการดำเนินการนำระบบสายสื่อสารลงใต้ดิน และการจัดระเบียบสายสื่อสาร อาทิ ตำรวจไม่ให้เปิดบ่อพัก เพื่อร้อยสายสื่อสาร ถูกล็อกล้อเมื่อจอดรถปฏิบัติงานและถูกปรับ เป็นต้น ทำให้เกิดความล่าช้าในการทำงาน หากทุกหน่วยงานให้ความร่วมมืองานจะแล้วเสร็จเร็วขึ้น

4.ขาดงบประมาณ ขาดงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของนโยบายให้นำสายสื่อสารลงใต้ดิน และการจัดระเบียบสายสื่อสารมีจำนวนเพิ่มากขึ้นทุกปี การดำเนินการดังกล่าวใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในการให้ความร่วมมือ ชดเชยหรือให้การสนับสนุนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ และ กสทช.ต้องร่วมวางแผนกับทุกหน่วยงาน เพื่อกำหนดระยะเวลาดำเนินการและจำนวนเส้นทาง

5.สถานการณ์โควิด -16 ตั้งแต่ปี 2563 -2564 การนำสายสื่อสารลงใต้ดินเป็นไปอย่างล่าช้า และไม่เป็นไปตามแผน เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าดำเนินการได้

แผนนำสายสื่อสารลงดินของ "กฟน.- กฟภ."

แผนการนำสายสื่อสารลงดิน เขตไฟฟ้านครหลวง ปี 2564 โดยสรุป มีดังนี้

1.เส้นทางที่ไม่สามารถนำสายลงใต้ดินในปี 2563 การไฟฟ้านครหลวง จำนวน 7 เส้นทาง

2.โครงการรักษ์คลองคูเมืองเดิม เฉลิมพระเกียรติ จำนวน 4 เส้นทาง

3.แผนงานรื้อย้ายสาธารณูปโภคที่กีดขวางแนวโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินจำนวน 2 โครงการ จำนวน 28 จุด

4.แผนการนำสายสื่อสารลงใต้ดินปี 2563 ตามนโยบาย กสทช. จำนวน 12 เส้นทาง

5.แผนงานเปลี่ยนระบบสายอากาศเป็นสายใต้ดินเพื่อรองรับการเป็น มหานครอาเซียน จำนวน 6 เส้นทาง

 

แผนการดำเนินการนำสายสื่อสารลงดิน กฟภ. ปี 2564

1.งานระบบนำสายลงใต้ดินของ กฟภ. ด้านงานโยธาที่ต้องดำเนินการแล้วเสร็จปี 2563 และนำสายสื่อสารลงดิน ปี 2564 แบ่งออกเป็นดังนี้

-โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าเมืองใหญ่ จำนวน 9 เส้นทาง

-งานที่การไฟฟ้าดำเนินการเอง 100 % จำนวน 1 เส้นทาง

-งานที่ได้รับการสนับสนุนจาก อปท. จำนวน 8 เส้นทาง

2.แผนงานรื้อย้ายสาธารณูปโภคที่กีดขวางแนวโครงการรถไฟฟ้าเชื่อ 3 สนามบิน จำนวน 2 โครงการ จำนวน 94 จุด

3.แผนงาน 1 จังหวัด 1 ถนนเฉลิมพระเกียรติ งานด้านโยธาที่ต้องดำเนินการแล้วเสร็จ ปี 2564 จำนวน 8 เส้นทาง ทั้งนี้ แผนงาน 1 จังหวัด 1 ถนนเฉลิมพระเกียรติ จะสามารถนำสายสื่อสารลงใต้ดินได้ในปี 2565 - 2566

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

เตรียมรื้อ "สายสื่อสาร" พาดขวางทางขึ้นสะพานลอยวงเวียนใหญ่

ร้อง "สายสื่อสาร" พันเรื่องต่อปี กสทช.สั่งแก้ผู้ประกอบการมักง่าย 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง