นักวิชาการชี้ กศน.แก้ปัญหา "เด็กหลุดจากระบบการศึกษา"

สังคม
23 ธ.ค. 64
12:45
1,806
Logo Thai PBS
นักวิชาการชี้ กศน.แก้ปัญหา "เด็กหลุดจากระบบการศึกษา"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิชาการแนะแก้ปัญหาเด็กหลุดจากการศึกษาด้วย "กศน." หลังปมดรามาโครงการก้าวเพื่อน้องเวอร์ชวลรัน “๑๐๙ คำขอบพระคุณ" หาเงินช่วยเด็กยากจน จี้กระทรวงศึกษาปรับนโยบายการศึกษา ก่อนที่เด็กจะหลุดออกจากการศึกษาในระบบมากกว่านี้

จากดรามาเรื่องโครงการก้าวเพื่อน้องเวอร์ชวลรัน “๑๐๙ คำขอบพระคุณ” ของมูลนิธิก้าวคนละก้าว ที่จัดกิจกรรมวิ่งเพื่อขอรับเงินบริจาคช่วยเหลือเด็ก 109 คน ให้ได้เรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือสายอาชีพ ไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา

อ่านข่าวเพิ่มเติม : ชาวโซเชียลตั้งคำถาม #พี่ตูนวิ่งทําไม จี้รัฐแก้ปัญหาที่ต้นทาง

จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่จะต้องแก้ไขในระดับนโยบาย ไม่ใช่หน้าที่ของประชาชน จึงมีบางส่วนไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม : กรรมการมูลนิธิก้าวคนละก้าว เคลียร์ปม #พี่ตูนวิ่งทำไม

ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา จึงถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้ง ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาที่หนักขึ้นทุกปี ปีการศึกษา 2564 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาด้วยสาเหตุต่างๆ มากถึง 5,654 คน และคาดการณ์ว่า สิ้นปีการศึกษา 2564 จะมีเด็กหลุดจากระบบ 65,000 คน

ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชนและอดีตรองคณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาวิจัยเรื่องปัญหาของเด็กใน จ.ฉะเชิงเทรา พบว่า ปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือระบบการศึกษา ในพื้นที่มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา เพราะฐานะยากจน ต้องช่วยครอบครัวหารายได้

ดร.ปนัดดา ได้เข้าไปทำข้อมูลกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) พบว่า ปัจจุบันมีเด็กนอกระบบ กลับมาเรียน กศน.มากขึ้น ผู้เรียนไม่ใช่ผู้ใหญ่หรือกลุ่มเด็กเกเร เช่นในอดีตอีกแล้ว มีเด็กจำนวนหนึ่งมาเรียน กศน.เพราะรู้สึกเบื่อหน่ายการศึกษาในระบบ หรือการเรียนในภาคปกติ เพราะรู้สึกว่า สิ่งที่รัฐจัดให้สิ่งที่โรงเรียนจัดให้ ไม่ใช่คำตอบหรือไม่เหมาะกับตัวเอง

เด็ก ๆ กลุ่มนี้บอกว่า การเรียน กศน.ทำให้พวกเขามีเวลามากขึ้น มีอิสระในการใช้ชีวิต เพราะเรียนแค่วันอาทิตย์วันเดียว วันอื่น ๆ สามารถไปทำงานหารายได้หรือเรียนเสริมวิชาที่ชื่นชอบและสนใจ ซึ่งแตกต่างจากการศึกษาในระบบที่เน้นเรียนแต่วิชาการ

 

ผศ.ดร.ปนัดดา มองว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยมีปัญหาหลายอย่าง ตั้งแต่วิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่ช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก การพัฒนาการเรียนเน้นแต่ส่วนกลาง (โรงเรียนประจำจังหวัด โรงเรียนในกรุงเทพฯ)

คุณภาพการเรียนไม่ได้มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ทำให้ท้องถิ่นเกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่เสมอภาค และการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นการบริหารที่ผลักเด็กในท้องถิ่นหลุดจากการศึกษา เด็กต้องไปเรียนไกลบ้านมากขึ้น สำหรับครอบครัวที่ยากจน เรื่องการศึกษาของลูก อาจจะต้องเลิกคิด

เด็กบางคนต้องขึ้นรถโรงเรียนตั้งแต่ตี 4 เพื่อไปเรียนในอำเภอ เรียนฟรี แต่ต้องจ่ายค่ารถโรงเรียนเอง บางครอบครัวต้องซื้อมอเตอร์ไซค์ให้ลูกใช้ เสี่ยงเกิดอันตรายและหายไประหว่างทาง

ผศ.ดร.ปนัดดากล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องแก้ปัญหาการศึกษาคือ เริ่มจากการเลือกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีความรอบรู้ทางด้านการศึกษา ต้องมีวิสัยทัศน์ มีหัวก้าวหน้า มีความคิดการพัฒนาการศึกษาและสังคม เพราะปัญหาสังคมกับการศึกษามันเชื่อมโยงกันอยู่ พร้อมยุติการจัดการจากส่วนกลาง เปลี่ยนเป็นกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

พร้อมแนะนำให้พัฒนาระบบ กศน.ให้มีความเข้มแข็ง เพราะ กศน.มีอยู่ทุกตำบลและกรอบการทำงานหน้าที่ของเขาชัดเจน ที่จะพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน พัฒนาอาชีพ ควบคู่กับการเรียนขั้นพื้นฐาน

กศน.เป็นทางออกที่ดี ที่จะรักษาเด็กในท้องถิ่น ไม่ให้หลุดออกจากการศึกษาอย่างถาวร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง