ปมชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ไม่ได้จบแค่ มติแพทยสภาลงโทษแพทย์ 3 คน แต่ยังมีประเด็นว่า ราชทัณฑ์บังคับโทษนายทักษิณ ชินวัตร เป็นไปตามคำพิพากษาและกฎหมายหรือไม่อีกด้วย และประเด็นนี้ อาจอยู่ที่การชี้ขาดของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
เช่นเดียวกับ คดีฮั้วเลือก สว.ปี 2567 ไม่ว่าจะอยู่ในอำนาจของ กกต.หรือ ดีเอสไอ ท้ายที่สุด ก็ขึ้นอยู่กับศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง และมีประเด็นอยู่ว่า ทั้ง 2 เรื่องนี้กำลังถูกจับตามองว่าอาจเป็นเงื่อนไขต่อรองทางการเมืองของ 2 ขั้วสีทางการเมือง "แดงกับน้ำเงิน"

คดีฮั้วเลือก สว.ปี 2567 เป็นเรื่องของอำนาจตามกฎหมาย ที่กำลังเดินเครื่องจัดการคนกระทำผิด แต่ทางหนึ่งก็ถูกมองว่า ฝ่ายที่ใช้กฎหมายเป็นขั้วอำนาจสีแดง พรรคเพื่อไทยหรือเปล่า ระหว่าง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กับ ดีเอสไอ ซึ่งงัดข้ออยู่ กับอีกทางหนึ่ง คือขั้วสีน้ำเงินพรรคภูมิใจไทยไหม ซึ่งหมายถึงรองนายกฯ อนุทิน ชาญวีรกูล กับ สว.สายสีน้ำเงิน แต่รองนายกฯ ภูมิธรรม เวชยชัย ปฏิเสธแล้ว "ไม่ใช่"
ภายใต้คำปฏิเสธ กลับมีข้อสังเกตว่าปมฮั้วเลือก สว. มีช่องว่างให้ฝ่ายการเมือง หยิบขึ้นมาเป็นเงื่อนไขต่อรองทางการเมืองได้ เพราะในหมวกของดีเอสไอ ที่เรียกแจงข้อกล่าวหา หลังความปรากฏให้เป็นเหตุสงสัย คือกรณีสัญญาว่าจะให้และฝ่าฝืนข้อกำหนดแนะนำตัว ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมาย การได้มาซึ่ง สว.ปี 2561 ไม่ใช่ข้อกล่าวหาฟอกเงินหรืออั้งยี่
กรณีนี้ในหมวกของ กกต.เอง ก็ตั้งคณะกรรมการสอบสวนและไต่สวนอยู่ด้วย หากหมวกที่ทำงานร่วมกับ ดีเอสไอ สรุปให้แจ้งข้อกล่าวหาก่อน แต่ทั้ง 2 หมวก หากสรุปสำนวนเสร็จยังไงก็ต้องส่งให้นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เคาะ ว่าจะนำเรื่องเข้าที่ประชุม กกต.วินิจฉัย ส่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง "สอย" สว.หรือไม่ ก็ต้องรอที่ประชุม กกต.วงใหญ่เคาะอีกรอบ
แต่ข้อสังเกตมีอยู่ว่า "ดีเอสไอ" ขึงขังและแสดงอำนาจ แต่พยานหลักฐานตามข้อกล่าวหา "ฟอกเงิน-อั้งยี่" ยังไม่ชี้ชัด ที่ชัดคือกระทำผิดกฎหมายการได้มาซึ่ง สว. จึงเป็นหมากที่ กกต.ต้องเดิน
ฮั้วเลือก สว.จะสอย สว.สายสีน้ำเงินได้ไหม? โดยเฉพาะในชั้นของเลขาธิการ กกต. พิจารณาภายใน 60 วัน แต่ถ้าไม่แล้วเสร็จ ขอขยายเวลาได้ โดยไม่มีกำหนด เว้นแต่ว่าจะเร่งมือทำ เพราะ 26 มิ.ย.นี้ จะครบรอบ 1 ปีของ สว.ปี 2567 แล้ว หากร่ำไร กกต. อาจถูกฟ้องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ และข้อสังเกตก็มีอยู่ว่า มีช่องว่างให้หยิบประเด็นมาต่อรองทางการเมืองได้ อาจเปลี่ยนจากดำเป็นขาว เมื่อตกลงกันได้

ไม่ต่างกันกับปมชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ แม้เรื่องจะต้องไปจบที่ศาล แต่ทางการเมืองก็ชี้ว่า มีทางเลือก-ทางรอด ที่สอดแทรกได้เช่นกัน
แม้ "แพทยสภา" จะมีมติลงโทษแพทย์ 3 คน เหตุให้ข้อมูลการรักษานายทักษิณ ชินวัตร ไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่เสียงที่วิพากษ์วิจารณ์และตีความไปถึง คำร้องขอไต่สวนการบังคับโทษมิชอบ ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำลังแตกต่างกัน ทางหนึ่งเชื่อว่าจะผูกมัด ให้ต้องกลับมารับโทษ อีกทางหนึ่งบอกคนละส่วน คนละเรื่องกัน
แต่หลังพูดคุยสอบถามกับนักกฎหมาย นอกจากจับตาท่าทีของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษแห่งแพทยสภา หากลงนามเห็นชอบตามมติแพทยสภา นั่นอาจหมายถึงเอกสารหลักฐาน ที่จะอ้างอิงในชั้นศาลฯ ได้อย่างมีน้ำหนักแล้ว หากลงนามไม่เห็นชอบขึ้นมา อาจสะท้อนถึงอำนาจของนายทักษิณอย่างมีนัยได้

ทั้งนี้ ปมชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ในจังหวะของ "แพทยสภา" มุมหนึ่งในเวลานี้ คือการปรบมือให้ ด้วยสภาพที่ กู้หน้าและฟื้นความเชื่อมั่น คืนศักดิ์และศรีของแพทย์มาแล้ว จากนี้ไป เผือกร้อนนี้ กำลังถูกโยนไปที่ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เข้าจังหวะ ท้าทายความเชื่อมั่น-ศรัทธา ในกระบวนการยุติธรรม
ถ้าแพทย์ให้ข้อมูลผู้ป่วย ไม่ตรงกับความเป็นจริง ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ว่ามีภาวะวิกฤตเกิดขึ้น จะเท่ากับไม่ควรได้สิทธิ์ไปพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ รวม 180 วันหรือไม่
และจะเท่ากับกระบวนการบังคับโทษไม่เป็นไปตามคำพิพากษาและกฎหมายหรือไม่ และจะเท่ากับการออกหมายจับนายทักษิณ ชินวัตร กลับมารับโทษในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หรือไม่ อยู่ที่กระบวนการไต่สวนของศาลฯ โดยเฉพาะข้อพิจารณาที่ว่า "ใคร..ทำให้" กระบวนการนั้นมิชอบ ถ้าไม่ใช่ "นายทักษิณ" จะเท่ากับ นายทักษิณ ต้องกลับมารับโทษหรือไม่
ประเด็น ปมชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจกับปมฮั้วเลือก สว. ที่ถูกจับตามองว่า อาจเป็นเงื่อนไขที่ขั้วอำนาจต่างสี "แดงกับน้ำเงิน" หยิบช่องว่างมาต่อรองทางการเมืองกันได้ และเป็นที่มาของเหตุที่โต้กลับ ด้วยฝ่ายหนึ่งเตรียมโหวตคว่ำร่างกฎหมายงบประมาณ ปี 2569 ส่วนอีกฝ่ายสวนกลับด้วยคำถามที่อาจหมายถึงยุบสภาเลยไหม แต่ท้ายที่สุดแล้ว อาจต่อรองจบเกมกันได้แล้วไปที่อีกทางหนึ่งนั่นคือ ปรับ ครม.?
อ่านข่าว :
สัญญาณความขัดแย้ง "เพื่อไทย-ภูมิใจไทย"
นักวิชาการ วิเคราะห์ขัดแย้ง เพื่อไทย-ภูมิใจไทย เขย่าเสถียรภาพรัฐบาล?