ข่าวดี! หลังตรุษจีน "เนื้อหมู" ลดราคาลงเฉลี่ย 170-200 บาท

เศรษฐกิจ
3 ก.พ. 65
13:37
774
Logo Thai PBS
ข่าวดี! หลังตรุษจีน "เนื้อหมู" ลดราคาลงเฉลี่ย 170-200 บาท
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุหลังเทศกาลตรุษจีน ราคาหมูเนื้อแดงลดลงแล้วเฉลี่ย 170-200 บาททั้งใน กทม.-ต่างจังหวัดจากเดิมราคาพุ่ง 250-300 บาท สาเหตุราคาหมูหน้าฟาร์มปรับราคาต่ำกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนไข่และไก่ ก็ราคาลดลง

วันนี้ (3 ก.พ.2565) นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวหลังลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าตลาดเวิลด์มาร์เก็ต เขตทวีวัฒนาหลังเทศกาลตรุษจีนว่า จากการติดตามและได้รับรายงานเจ้าหน้าที่สายตรวจ เพื่อติดตามราคาสินค้าในกทม.และต่างจังหวัดทั่วประเทศ ราคาสินค้าโดยเฉพาะเนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ แนวโน้มลดลงเป็นส่วนใหญ่

หมูเนื้อแดง ราคา 170-180 บาทต่อกิโลกรัม แยกเป็นสะโพก ราคาอยู่ที่ 175 บาทต่อกิโลกรัม ไหล่ราคา 160 บาทต่อกิโลกรัม สันในราคา 190 บาทต่อกิโลกรัม สันนอก ราคา 185 บาทต่อกิโลกรัม สามชั้น ราคา 200 บาทต่อกิโลกรัม

ส่วนราคาเนื้อหมูในจังหวัดต่างทั่วประเทศ เริ่มลดลงมาอยู่ที่ 200 บาทต่อกิโลกรัม ก่อนหน้าช่วงตรุษจีนเนื้อหมูมีราคาสูงถึง 250-300 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ราคาเนื้อหมูที่เริ่มปรับลดลงเป็นจากความร่วมมือทุกฝ่าย มีการตรวจสต๊อก และระบายออกสู่ตลาดขณะนี้ ราคาเนื้อหมูหน้าฟาร์มปรับลงเหลือต่ำกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัม และคาดว่าราคาเนื้อหมูจะปรับลดลงตามต้นทุนที่แท้จริง 

ราคาไข่ลดลงเฉลี่ยฟองละ 3.33 บาท 

อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ส่วนราคาไก่สด ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 65-80 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนไข่ไก่เบอร์ 3 แผงละ 100 บาท ไม่รวมค่าแผงกระดาษ เฉลี่ยอยู่ที่ฟองละ 3.33 บาท โดยราคาอยู่ในเกณฑ์ที่กระทรวงพาณิชย์กำกับดูแล

เช่นเดียวกับสราคาผักส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับปกติ เช่น ผักคะน้า กิโลกรัมละ 25 บาท ผักกาดขาว กิโลกรัมละ 20 บาท ผักบุ้งจีน กิโลกรัมละ 20 บาท ผักชี 130 บาทกิโลกรัม

 

ในส่วนของราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวด ยอมรับว่ายังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง แต่กรมการค้าภายใน ได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการผลิต และห้างค้าส่งค้าปลีกต่าง ๆ ยังคงจำหน่ายอยู่ในราคาที่เหมาะสม เฉลี่ยขวดละ 59-62 บาท

สาเหตุที่ราคาน้ำมันปาล์มปรับตัวสูงขึ้นก่อนหน้านี้เกิดจากประเทศผู้ผลิตหลักอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซียประสบปัญหาในเรื่องของโควิด-19 ทำให้แรงงานแทงปาล์มขาดแคลน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

คนหันบริโภค "ปลานิล" ทางเลือกช่วงหมูแพง

ปคบ.บุกจับไส้กรอก ที่ จ.ชลบุรี ไม่ผ่านมาตรฐาน อย.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง