"ช้างป่าภาคตะวันออก" โจทย์ใหญ่ที่กรมอุทยานฯ เร่งแก้

สิ่งแวดล้อม
13 มี.ค. 65
12:12
928
Logo Thai PBS
"ช้างป่าภาคตะวันออก" โจทย์ใหญ่ที่กรมอุทยานฯ เร่งแก้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปัญหา "ช้างป่าภาคตะวันออก" ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่กรมอุทยานฯ กำลังเร่งแก้ไข เพราะไม่ใช่แค่หาคำตอบว่า ช้างเพิ่มจำนวนมากขึ้นหรือ คนบุกรุกพื้นที่ป่าของช้าง แต่ทำอย่างไรที่ทำให้ทั้งหมดอยู่ร่วมกันได้ในสภาพพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไป

ปัจจุบันประเทศไทยมีช้างป่าอยู่ประมาณ 3,168-3,440 ตัว ใน 69 พื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ แต่จุดที่มีปัญหา “คนกับช้าง” ที่หนักหน่วงที่สุดคือ บริเวณโดยรอบพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน หนึ่งในกลุ่มป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก

เผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอส ถึงสถานการณ์ปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และแนวทางแก้ปัญหาที่จะเดินหน้าต่อจากนี้

สถานการณ์ช้างป่าเขาอ่างฤาไน

ปัจจุบันมีปัญหาช้างป่าออกมาหากินนอกพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ฝั่ง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา และยังเดินหากินไกลข้ามมาจนถึง จ.ปราจีนบุรี ทั้งที่ผืนป่าไม่ได้เชื่อมต่อกัน แต่ตลอดทางช้างจะเข้าพักที่หย่อมป่าที่กรมป่าไม้รักษาไว้

ช้างเป็นสัตว์สังคมที่มีการปรับตัวเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เขาจะมีชุดล่วงหน้ามาเดินสำรวจเส้นทางหลายปีแล้ว ก่อนหน้านี้เราพบช้างเดี่ยวเริ่มเดินไปบ่อยมากขึ้น และจะมีช้างเดี่ยวที่มารวมกลุ่มกัน 4–5 ตัว เป็นช้างตัวผู้มารวมกลุ่มกันไปเป็นเพื่อนกันบ่อยขึ้น ซึ่งจากทิศทางอย่างนี้ สันนิษฐานว่า จะมีช้างโขลงตามมาเร็วๆ นี้

ประจวบเหมาะกับปีที่แล้วที่ช้างลงมามาก รวมถึงปีนี้เป็นช้างโขลงทั้งหมด ในฝั่งทางด้านนี้ มารวมกันและออกไป สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในฝั่ง จ.ปราจีนบุรีค่อนข้างมาก

เพิ่มแหล่งอาหารช้างในป่าอนุรักษ์

โจทย์สำคัญคือทำยังไงที่จะเอาช้างพวกนี้กลับเข้าป่า และทำให้เขาออกมาได้น้อยที่สุด หลักคิดของเราก็คือ การทำให้พื้นที่ภายในป่าอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนหรือจุดอื่น ให้มีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และที่หลบภัย

กรมอุทยานฯ มีแผนการจัดการช้างป่าระดับกลุ่มป่า พ.ศ.2563-2572 และยังได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัดเข้ามาร่วมช่วย รวมทั้งจังหวัดที่สนับสนุนงบประมาณ

เราเติมเข้าไปในหลายปีที่ผ่านมา อุดมสมบูรณ์พอสมควร แต่เมื่อช้างที่เคยออกมา มันก็จะติดใจกับพืชพรรณอาหารที่อยู่ข้างนอก มากกว่าอาหารปกติที่มันกิน ในอดีตเรายังคิดว่า มันไม่น่าจะเอาลูกมาเสี่ยงได้ถึงขนาดนี้ แต่ไม่ใช่แล้วกับสถานการณ์ปัจจุบัน ยอมถึงขนาดมาคลอดลูกข้างนอกแล้ว

ต้องเสริมแนวป้องกันช้างออกจากป่า

เดิมใช้เป็นลักษณะคูดินกันช้าง แต่ผ่านฤดูกาลไปไม่นานก็เกิดการชำรุดเสียหาย และยอมรับว่ายังไม่ได้ซ่อมแซมอย่างทันท่วงที ทำให้ช้างออกมาได้ และเมื่อออกมาแล้ว เขาก็จะใช้เส้นทางนั้นเป็นด่านเข้าออกเป็นประจำ

ต่อมามีการเอารั้วไปตั้งบนหลังคูดิน ซึ่งตอนแรกคิดว่าช้างจะทำลายแนวป้องกันได้ยากขึ้น ซึ่งมันก็ป้องกันได้จริงในภาพรวม แต่จุดที่เขาเข้าออกเป็นประจำ เมื่อเขาต้องการจะเข้าจะออก แนวป้องกันต่างๆ เหล่านี้ก็ต้านทานไม่ได้ เราจึงต้องใช้รั้วมนุษย์เข้าไปเสริม คือ คนต้องเข้าไปกดดันในจุดที่เขาอยากจะออก

จะมีช้างดื้อ พวกนี้จะนำหน้า แต่ไม่แตกจากโขลง จะนำหน้ามาเพื่อหาทางออกให้ได้ เขาจะทำทุกอย่างที่จะทำลายแนวให้ได้ พอออกไปได้เขาก็จะเริ่มสื่อสารกับโขลงว่าเส้นทางนี้ออกได้แล้ว เขาก็จะพากันออก มันจึงจะต้องใช้คนเข้าไปประกบ เอาคนเข้าไปร่วมด้วย สร้างการมีส่วนร่วมตรงนี้ให้ได้

ถ้าเราจัดการช้างโขลงเข้าไปในป่าได้ และพยายามป้องกันไม่ให้ออกมา ช้างโขลงก็จะพยายามตามช้างเดี่ยวที่อยู่ข้างนอกกลับป่าโดยเฉพาะช่วงฤดูผสมพันธุ์

 

ที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกับมวลชนกลุ่มต่างๆ ที่มีความเห็นต่าง ทั้งกลุ่มที่ต้องการให้เอาช้างออกทันที กลุ่มที่เข้าใจในบริบทว่ามันทำอย่างนั้นไม่ได้ ต้องเข้าไปสร้างความร่วมมือทั้งหมด เพื่อประสานความร่วมมือกัน และให้มีแกนในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาร่วมกันให้ได้

คาดช้างป่ารอยต่อมีมากกว่า 500 ตัว

เมื่อปี พ.ศ.2561 กรมอุทยานฯ ได้ตรวจนับจำนวนประชากรช้างป่าป่ารอยต่อ 5 จังหวัด พบว่ามีจำนวน 424 ตัว และมีอัตราการเกิดประมาณร้อยละ 8 ต่อมาปี พ.ศ.2564 มีความพยายามนับอีกครั้ง แต่ครั้งนี้มีอุปสรรคพอสมควร ทำให้ข้อมูลที่ได้จึงมีจำนวนไม่มาก โดยนับได้เพียง 460 กว่าตัว คือเพิ่มขึ้นนิดเดียว แต่จากการที่ได้เห็นลูกช้างในทุกโขลงที่ออกมา ซึ่งประมาณการจากอัตราการนับตั้งแต่เริ่มต้นของปีพ.ศ.2561 คาดว่าน่าจะเกิน 500 ตัวแล้ว

 

ถามว่าจำนวนที่เหมาะสม ที่จะอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติ โดยมนุษย์ไม่เข้าไปยุ่งมัน เกินหรือยัง คำตอบคือมันเกินมานานแล้ว มันล้นกับจำนวนที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนมีพื้นที่อยู่ แต่เราพยายามเข้าไปเติมแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร จึงเชื่อว่า มันยังพอรองรับได้

เราพยายามศึกษาจำนวนประชากร พร้อมโครงสร้างของช้าง นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ผมเข้ามาแล้วหวังว่า เราตอบสังคมให้ได้ว่า จำนวนประชากรพร้อมโครงสร้างของช้าง ในพื้นที่เป็นอย่างไร ซึ่งถ้าเรารู้ข้อมูลสารตั้งต้นตรงนี้ มันจะทำให้เราเอามาจัดการได้อย่างเป็นที่ยอมรับ

ฐานข้อมูลนี้จะนำไปสู่คำตอบว่า ความเหมาะสมที่ช้างควรจะมีคือแค่ไหน และโจทย์ต่อไปคือเราจะควบคุมจำนวนประชากรช้างอย่างไร ถ้าสมมุติว่ามันล้นมากเกินจาก 500 ตัวขึ้นไป ก็รับยากแล้ว ไม่ว่าจะเติมความอุดมสมบูรณ์มากแค่ไหนก็คงไม่ไหว เราจะควบคุมอย่างไร ซึ่งก็มีการพูดคุยกันแล้วระดับหนึ่ง

เชื่อมต่อผืนป่าเยียวยาประชาชน

เรามองในเรื่องการเชื่อมต่อป่าด้วย เพราะช้างจากป่าเขาอ่างฤาไนเคยเดินถึงเขาใหญ่ แต่ประเด็นที่เกิดขึ้นคือ ระหว่างทางช้างสร้างความเสียหายได้ตลอดทาง ซึ่งหากทุกภาคส่วนทั้งกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามาช่วยกันชดเชยชดเยียวยาให้กับคนที่ได้รับความเสียหายจนเขายอมรับได้ การเชื่อมต่อผืนป่าให้เหมือนในอดีตก็อาจเป็นจริงได้

ในอดีตผืนป่ามันต่อกันหมด ต่อมามีการใช้ประโยชน์ที่ดิน ไม่ได้บอกว่าประชาชนผิด เพราะข้อเท็จจจริงปัจจุบันมันเป็นอย่างนั้น ว่ามีการเข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดิน มันก็จะตัดการเชื่อมต่อของป่าออกเป็นหย่อมๆ

ถ้าทุกภาคส่วนร่วมด้วยช่วยกัน ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเขายอมรับในสิ่งที่เขาได้รับผลกระทบได้ เชื่อว่ามันก็มีโอกาส

การช่วยเหลือชดเชยเยียวยา หรือแม้กระทั่งชดใช้ มันคือสิ่งที่จะทำให้ประชาชนเขายอมรับได้ เหมือนปลอบประโลม คิดถึงสภาพว่า ค่าเทอม ค่าน้ำ ค่าไฟ ความหวังของเขาอยู่ในเรือกสวนไร่นา แต่ตื่นเช้าขึ้นมาเละหมดเลย ถามว่าเขาจะรู้สึกยังไง

สร้างการเรียนรู้รับมือช้างป่า

การให้ความรู้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ๆ ได้รับผลกระทบ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ให้เข้าใจพฤติกรรมช้างป่า และเข้าใจว่าเราจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เช่น ช้างออกมาหากินนอกป่าเป็นเวลานาน

เกลือแร่จากโป่งที่เคยได้รับจากธรรมชาติ ไม่รู้จะเอาจากตรงไหน ช้างก็จะเข้าครัว เมื่อเขาได้กลิ่นน้ำปลา กลิ่นเกลือ ที่เราเห็นข่าวช้างพังบ้านคน ก็คือต้องการของพวกนี้

การที่เราไม่รู้ว่าจะต้องปฏิบัติตนเช่นไร ก็อาจจะทำให้ช้างตกใจ ที่เห็นพังส่วนใหญ่คือตกใจ บางทีก็หงุดหงิดที่เข้าไม่ได้สักที ก็จะเข้าให้ได้ ซึ่งเขาขยับนิดเดียวมันก็พังหมดแล้วในโครงสร้างบ้านที่มนุษย์อาศัย ไม่มีทางต้านทานช้างได้เลย โดยเฉพาะคนที่อยู่ติดกับป่ายิ่งต้องเรียนรู้ เราอาจจะต้องเก็บสิ่งล่อต่างๆ เหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้กลิ่นกระจายไปหาช้างให้น้อยที่สุด

ต้องเข้าใจว่าปัญหาช้างป่าเป็นปัญหาระดับชาติ มันเป็นภัยที่มีชีวิตจิตใจ และมันเป็นภัยธรรมชาติที่พิเศษมาก ช้างป่าไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เข้าใจว่าทุกอย่างที่มันกินได้คืออาหารของเขา เขาไม่รู้ว่ามันเป็นของใคร เขารู้อย่างเดียวว่ามันกินได้หมด

เคยมีประสบการณ์ในการผลักดันช้างกลับป่า เมื่อผลักดันใกล้ถึงป่า ปรากฏว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยอมฟังอะไร เอารถมาขวางห้ามเข้าที่ดินของเขา ทั้งๆ ที่ตรงนั้นเป็นเส้นทางเดินของช้าง ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ช้างก็จะหมุนกลับ และจะกลายเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ที่ติดตามมา

พวกผมพอเอาตัวรอดได้ แต่คนอื่นที่ไปเจอข้างหน้า กรีดยางอยู่ดีๆ ไม่มีใครแจ้งเตือนมาเลยว่าช้างจะมา ก็ตาย พอคนตายช้างก็เป็นจำเลย เจ้าหน้าที่ก็เป็นจำเลย

มองปัญหาอย่างสร้างสรรค์

ถ้าจะบอกว่าคนไม่ได้รุกพื้นที่ของช้างเลย จะบอกว่าไม่ได้เกิดจากปัญหานั้น ก็พูดอย่างนั้นไม่ได้ ในบริบทหลายพื้นที่ติดแนวเขตมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ก่อนมันเป็นพื้นที่ป่าจริงๆ แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่แล้ว พื้นที่ๆ เห็นมันก็คือเรือกสวนไร่นา คือพื้นที่ทำกินของประชาชนติดแนวเขตทั้งหมด หลุดจากป่าอนุรักษ์ก็คือมีเจ้าของทั้งหมด ปลูกพืชผลทางการเกษตร ปัจจุบันหลายแห่งก็ปลูกบ้านอยู่อาศัยเข้าไปด้วย

แต่เราไม่ควรกลับไปพูดแล้ว เราต้องมองข้ามปัญหาตรงนั้น แล้วมาแสวงหาความร่วมมือ ถามว่าเมื่อไปพูดอย่างนั้นแล้วทำให้การแก้ไขปัญหาดีขึ้นไหม มันไม่สามารถทำให้การแก้ปัญหาดีขึ้นเลย เราควรจะมองให้ข้ามจากตรงนั้นไปแล้ว แล้วมาแสวงหาความร่วมมือช่วยกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง