ดึงเอกชนร่วมรัฐ สร้าง "สวนใกล้บ้าน" เพิ่มพื้นที่สีเขียว เติมสุขคนกรุง

สังคม
7 ก.ค. 65
10:07
532
Logo Thai PBS
ดึงเอกชนร่วมรัฐ สร้าง "สวนใกล้บ้าน" เพิ่มพื้นที่สีเขียว เติมสุขคนกรุง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ฟังเสียงสะท้อนคนกรุง “สวนใกล้บ้าน” ควรคำนึงถึงความคุ้มค่าด้านการจัดการ ปลอดภัย ห่างไกลอาชญากรรม ด้าน “ผู้ว่าฯ” เดินหน้าชวนเอกชนมอบที่ดินสร้าง “พื้นที่สีเขียว” เพิ่ม

นายธัญ คงวัฒนากุล อายุ 22 ปี ซึ่งมาใช้สวนสาธารณะ แสดงความเห็นเรื่องการสร้างพื้นที่สีเขียว สวนใกล้บ้าน ว่า การออกแบบการใช้ประโยชน์พื้นที่ต้องมีการหารือร่วมคนในชุมชน เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่า อยากได้พื้นที่สาธารณะแบบไหนที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนในชุมชนมากที่สุด สิ่งนี้อาจทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญ

นายธัญ มองว่า สวนใกล้บ้านหากทำแล้วต้องคุ้มค่า และดึงดูดให้คนเข้ามาใช้ประโยชน์ ในอนาคตหากเพิ่มพื้นที่สวนใกล้บ้านให้มากขึ้น จะต้องโปรโมตให้ทุกคนได้รับรู้ เพื่อร่วมกันดูแล

อ่านข่าว : "สวนใกล้บ้าน" ความฝันของคนกรุง จะดีแค่ไหนถ้าไม่ต้องเดินทาง

ธัญ คงวัฒนากุล ผู้ใช้บริการสวนสาธารณะ

ธัญ คงวัฒนากุล ผู้ใช้บริการสวนสาธารณะ

ธัญ คงวัฒนากุล ผู้ใช้บริการสวนสาธารณะ

สวนใกล้บ้านต่อให้ลงทุนหลายร้อยล้าน แต่ไม่มีคนใช้งาน ลงทุน 500 ล้าน กับพื้นที่คนใช้งาน 100 คน อาจไม่คุ้มค่า มีสวนมีต้นไม้เยอะ ๆ ยิ่งดี แต่จุดประสงค์คืออยากให้คนออกมาใช้ประโยชน์  

นายธัญ กล่าวว่า สวนสาธารณะอย่างสวนลุมพินี สวนรถไฟ มีดนตรีในสวน ทำให้คนเริ่มกลับมาสนใจสวนสาธารณะมากขึ้น กิจกรรมในสวนลุมพินีเป็นแบบอย่างให้สถานที่อื่น ๆ ที่กำลังจะพัฒนา การโปรโมตให้ทุกอย่างเป็นเรื่องปกติ ทำให้ทุกคนที่มาใช้บริการสวนสาธารณะ มองว่าก็เป็นชีวิตปกติที่สามารถมาได้ จึงควรนำสวนหรือแนวคิดนี้ใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ด้วย

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ร่วมงาน ดนตรีในสวน” ณ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร

"ผู้ว่าฯ ชัชชาติ" ร่วมงาน "ดนตรีในสวน” ณ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร

"ผู้ว่าฯ ชัชชาติ" ร่วมงาน "ดนตรีในสวน” ณ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร

อย่าเพิ่มเพียงปริมาณ แต่ควรมีคุณภาพและยั่งยืน

ไม่ใช่ทุกพื้นที่สีเขียวที่เป็นที่ต้องการ เช่น พื้นที่รกร้าง ไม่ได้รับการพัฒนาให้มีประโยชน์บางแห่งเป็นแหล่งมั่วสุมไม่ปลอดภัย จนมองไม่ออกว่า จะมีพื้นที่สาธารณะในฝันได้หรือไม่

นายชัยยง ปานอ่วม ผู้มาใช้บริการสวนสาธารณะ บอกว่า สวนใกล้บ้านเป็นแนวคิดที่ดีมาก แต่อยากให้มองถึงขนาดของสวน ว่าตอบโจทย์คนในชุมชนหรือไม่ ขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการแค่พื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะเท่านั้น แต่ต้องเป็นพื้นที่ใช้งานอื่นๆ ด้วย เช่น ลานกีฬา ลานกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงอยากให้มองในเรื่องของความความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ หากไม่มีคนดูแล อาจกลายเป็นแหล่งมั่วสุมที่ไม่ปลอดภัย

ชัยยง ปานอ่วม ผู้มาใช้บริการสวนสาธารณะ

ชัยยง ปานอ่วม ผู้มาใช้บริการสวนสาธารณะ

ชัยยง ปานอ่วม ผู้มาใช้บริการสวนสาธารณะ

 

นายชัยยง ยังมองถึงความคุ้มค่าในการเพิ่มพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียว ว่า ทุกอย่างมีต้นทุน ทั้งค่าใช้จ่ายคนดูแลสวน ค่าต้นไม้ เรื่องความปลอดภัย มีเพียงพอขนาดไหน และหากมี ต้องมองเรื่องมาตรฐาน กฎระเบียบด้วย รวมไปถึงการบำรุงรักษาอุปกรณ์ ทำได้อย่างสวนที่มีขนาดใหญ่หรือไม่

นอกจากนี้ยังให้มองถึงระยะยาวด้วยว่า ตอบโจทย์หรือไม่ วันนี้มองเรื่องสุขภาพ แต่ต้องมองเรื่องอาชญากรรมที่จะตามมาด้วย คิดรอบด้านไม่อยากให้มีแค่ 4 ปี แล้วเลิกกันไป จะกลายเป็นว่า นำเงินงบประมาณที่จะนำไปทำอย่างอื่นได้ ในเรื่องจำเป็น สำหรับเวลานี้ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในการฟื้นฟูรากหญ้า ที่กำลังเดือดร้อนตอนนี้ นอกจากมีสวนแล้วปัญหาในสังคมอื่น ๆ ยังต้องแก้ไขควบคู่กันไปด้วย คนไร้บ้านก็ต้องหาพื้นที่ให้เขาอยู่อาศัยด้วย

สวนก็เป็นสวนหนึ่ง แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ของคนทุกคน มันอาจจะตอบโจทย์คนที่ชอบออกกำลังกาย อาจจะตอบโจทย์กับคนที่ อยากพักผ่อน อยู่ใกล้บ้านก็อยากมาเดิน

 

สวนที่จะเพิ่มให้มีในพื้นที่ใกล้บ้าน ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า ความปลอดภัย เป็นสำคัญ ทุกอย่างมีต้นทุนในการจัดการ จำนวนคนสวน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย อย่าสร้างปัญหาให้สังคมเพิ่ม

และหากพื้นที่ใดที่ไม่มีสวนใกล้บ้าน หรืออาจเดินทางออกมาในพื้นที่สวนสาธารณะที่มีความพร้อมมากกว่า ระบบการขนส่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน ก็เป็นสิ่งสำคัญ ถือเป็นทางเลือกที่ดี

พื้นที่สีเขียว ของคนกรุงเทพฯ

การพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้กับคนกรุงเทพฯ เป็นการทำให้มีพื้นที่พักผ่อน และพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้น ทั้งยังเป็นตัวชี้วัดถึงคุณภาพชีวิตของคนเมืองด้วย ทำให้ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร มีการสร้าง ปรับปรุง สวนสาธราณะหลายแห่ง แต่ด้วยข้อจำกัดในบ้างพื้นที่ จึงมีแนวคิดที่จะนำพื้นที่ในชุมชนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาพัฒนา

 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ chadchart ระบุ ปัจจุบันการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะเปิดโล่ง หรือที่ทำกิจกรรมออกกำลังหรือพักผ่อนมีอยู่อย่างค่อนข้างจำกัด ทั่วกรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะหลักนับสิบแห่ง อยู่ในเขตต่าง ๆ เช่น จตุจักร ลาดพร้าว ดอนเมือง

ขณะที่ กทม.ทำข้อมูลพื้นที่สีเขียว แบ่งออกเป็นสวน 7 ประเภท ได้แก่ สวนเฉพาะทาง สวนชุมชน สวนถนน สวนระดับเมือง สวนระดับย่าน สวนหมู่บ้าน สวนหย่อมขนาดเล็ก สวนไม่ได้ระบุประเภท รวมพื้นที่ 41,327,286.489 ตร.ม.

 

การจัดกลุ่ม “พื้นที่สีเขียว” ในลักษณะนี้ไม่สามารถแยกได้ว่าสวนไหนใช้งานได้หรือไม่ได้ เช่น สวนถนน นับรวมสวนไหล่ทางสวนเกาะกลาง หรือสวนหมู่บ้าน ซึ่งประชาชนอาจไม่สามารถเข้าใช้ได้หรือเข้าใช้ได้น้อย แต่มีพื้นที่รวมกันถึง 18,602,682.9 ตร.ม. คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่สีเขียวทั้งหมด

"ผู้ว่าฯ" ชวนเอกชนมอบที่ดินให้ กทม. สร้างพื้นที่สีเขียว

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. สำรวจพื้นที่ว่างเปล่าที่ทางเอกชนมอบให้สำนักงานเขตบางซื่อจัดทำเป็นพื้นที่สวนสาธารณะในเมือง เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา

เป้าหมายในการมอบที่ดินของเอกชน เพื่อไปปรับปรุงภูมิทัศน์ ตามโครงการ “เปลี่ยนพื้นที่เปลี่ยวเป็นพื้นที่โปร่ง” หวังตัดวงจรอาชญากรรม ลดปัญหามลพิษ และอัคคีภัย เป็นระยะเวลา 4 ปี

ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณและกำลังคน จึงไม่พัฒนาที่ดินไปได้มากกว่านี้ เมื่อว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.มีนโยบายจะเพิ่มพื้นที่สีเขียว ก็ยินดีสนับสนุน คาดว่าจะทำสัญญากับ กทม. 5-8 ปี

 

ในการลงพื้นที่ครั้งนั้น นายชัชชาติ ได้กล่าวว่า ที่ดินผืนนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง “พื้นที่สีเขียว” ขนาดเล็กตามนโยบาย “สวน 15 นาที Pocket Park ทั่วกรุง โดย กทม. จะใช้มาตรการด้านภาษีมาจูงใจให้เจ้าของที่ดินเอกชน เปลี่ยนที่รกร้างว่างเปล่าให้เป็นสวนสาธารณะขนาดเล็ก

กทม.จะทุ่มเงินมาซื้อที่ดิน 100 ล้านบาท ไม่มีทางที่จะนำพื้นที่กลางเมืองมาทำสวนสาธารณะได้ เชื่อว่ามีพื้นที่อีกหลายแปลงที่ยังไม่อยากพัฒนาตอนนี้ แต่รอเวลาไปก่อน แทนที่จะไปปลูกกล้วยหรือเอาไปทำอะไร เอาตรงนี้มาทำพื้นที่สาธารณะให้คนใช้ดีกว่า ซึ่งจะได้ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม. มีอำนาจในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้เอง แต่ต้องไม่เกินอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนด หาก กทม.เห็นว่าพื้นที่บางพื้นที่ไม่ควรเป็นแปลงเกษตร หรือ นำมาปลูกกล้วย ก็อาจจะใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่ปรับอัตราภาษีฯ ให้สูงขึ้นได้ แต่ยังไม่ใช่ข้อสรุปว่าจะเพิ่มภาษีฯ เพียงแต่ย้ำให้เห็นว่า มีช่องทางในการใช้มาตรการทางภาษีมาเป็นเงื่อนไข และแรงจูงใจให้เกิด “พื้นที่สีเขียว” ในเมืองได้

ปรับให้เป็นพื้นที่สีเขียว-สวนสาธารณะ-พื้นที่เรียนรู้การเกษตร

ด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง สำนักสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการปรับพื้นที่ย่านทวีวัฒนา เมื่อ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา ให้เป็นพื้นที่สีเขียว เป็นสวนสาธารณะที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย โดยให้มีทั้งทางเดิน วิ่ง พื้นที่เรียนรู้การเกษตร ร่องสวนกล้วย และสิ่งอำนวยความสะดวก และระบบสาธารณูปโภค ความปลอดภัย ทั้งไฟฟ้าส่องสว่าง กล้อง CCTV เป็นต้น

ปรับพื้นที่ย่านทวีวัฒนา เป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนพักผ่อนหย่อนใจ

ปรับพื้นที่ย่านทวีวัฒนา เป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนพักผ่อนหย่อนใจ

ปรับพื้นที่ย่านทวีวัฒนา เป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนพักผ่อนหย่อนใจ


พร้อมให้สำนักการโยธา ออกแบบบริเวณทางเข้าสวนสาธารณะ และมอบหมายให้สำนักงานเขตทวีวัฒนา ตรวจสอบลักษณะของที่ดินบริเวณใกล้เคียงว่าเป็นพื้นที่รกร้างหรือพื้นที่ทำการเกษตร เพื่อจะได้ประสานนำมาใช้ประโยชน์

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"สวนใกล้บ้าน" ความฝันของคนกรุง จะดีแค่ไหนถ้าไม่ต้องเดินทาง

สวนใกล้บ้าน-ลานอเนกประสงค์ "พื้นที่ปลอดภัย" สำหรับเด็กในกรุง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง