วิเคราะห์ : มองอนาคตหลัง "ศรีลังกา" ล้มละลาย

ต่างประเทศ
11 ก.ค. 65
13:56
1,827
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ : มองอนาคตหลัง "ศรีลังกา" ล้มละลาย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ศรีลังกา" กำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจขั้นรุนแรง สถานการณ์ขณะนี้เลวร้ายถึงขั้นกลายเป็นประเทศที่ตกอยู่ในภาวะล้มละลาย

"ศรีลังกา" เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่า การบริหารจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาล คือต้นตอของวิกฤต โดยเฉพาะการประกาศตัดลดภาษีครั้งใหญ่ในช่วงที่ประเทศกำลังต้องการเงิน ซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นแรกของผู้นำคนปัจจุบันเมื่อปี 2019

ขณะที่โควิด-19 เป็นสาเหตุให้รายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศหดหาย ซ้ำเติมด้วยมาตรการห้ามนำเข้าปุ๋ยและยาฆ่าแมลงนานถึง 7 เดือน ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อภาคเกษตรกรรม แต่กระสุนปลิดชีพเศรษฐกิจศรีลังกาหนีไม่พ้นผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทำให้ราคาเชื้อเพลิงถีบตัวสูงขึ้นทั่วโลก

วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้นำที่เคยได้ชื่อว่าเป็นวีรบุรุษสงคราม จากการเอาชนะกลุ่มแบ่งแยกดินแดนพยัคทมิฬอีแลมในสงครามกลางเมือง ต้องกลายมาเป็นประธานาธิบดีที่ถูกประชาชนขับไล่ จนต้องหลบหนีออกไปจากบ้านพัก

ผู้ประท้วงหลายคนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ระบุว่า ต้องการมาเห็นชีวิตที่หรูหราของผู้นำประเทศด้วยตาของตัวเอง

 

ชาวศรีลังกาจำนวนมากทนไม่ไหวอีกต่อไปกับสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก และมีเสียงเรียกร้องให้ผู้นำประเทศลาออกจากตำแหน่ง ตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา แต่เสียงเรียกร้องนั้นกลับไม่ได้ถูกขานรับจากฝั่งรัฐบาล ซึ่งทำเพียงแค่การสลับเก้าอี้รัฐมนตรีไปพร้อมๆ กับความพยายามในการกำราบกลุ่มผู้ประท้วง

ขณะที่การทยอยขาดแคลนสิ่งของจำเป็น โดยเฉพาะยา อาหารและเชื้อเพลิง เนื่องจากการขาดเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าสินค้า คือจุดแตกหักที่ทำให้วิกฤตเศรษฐกิจมาซ้อนทับกับวิกฤตทางการเมือง ท่ามกลางความโกรธแค้นของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ด้านโกตาบายา ราจาปักษา ประธานาธิบดีศรีลังกา ประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 13 ก.ค.นี้ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจเป็นไปอย่างสันติ ขณะที่รานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรี ก็พร้อมลงจากตำแหน่งเช่นกัน เพื่อเปิดทางให้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมาบริหารประเทศ

ดังนั้นจึงต้องจับตาสถานการณ์ในช่วง 2-3 วันนี้ เพราะเป็นปัจจัยที่อาจกลายเป็นจุดพลิกผัน สุ่มเสี่ยงจะทำให้การประท้วงลุกลามบานปลายกลายเป็นเหตุรุนแรงมากกว่านี้ ซึ่งนอกจากวิกฤตการเมืองแล้ว วิกฤตเศรษฐกิจคือโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลชุดใหม่ของศรีลังกาต้องหาทางออก

 

อ่านข่าวอื่นๆ

"ประธานาธิบดีและนายกฯ" ศรีลังกา ประกาศลาออก

นักวิเคราะห์คาดพรรครัฐบาลญี่ปุ่นได้เปรียบเลือกตั้ง ส.ว.

ยูเครนเร่งช่วยคนติดใต้ซากอาคารที่ "โดเนทสค์" หลังถูกยิงถล่ม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง