สธ.ลงดาบรพ.เอกชน 2 ข้อหาขายแพ็คเกจโควิด จ่ายโมลนูพิราเวียร์

สังคม
14 ก.ค. 65
08:51
1,743
Logo Thai PBS
สธ.ลงดาบรพ.เอกชน 2 ข้อหาขายแพ็คเกจโควิด จ่ายโมลนูพิราเวียร์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สธ. ลงดาบเอาผิด 2 ข้อหาโรงพยาบาลเอกชนย่านคลองหลวง โฆษณาแพ็คเกจรักษาโรคโควิด-19 แบบให้ผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน ผิดข้อหาโฆษณา และจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาควบคุมโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับอีกวันละ 10,000 บาท

กรณีพบโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในย่านคลองหลวง จ.ปทุมธานี โฆษณาแพ็คเกจรักษาโรคโควิด-19 แบบให้ผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) มีแพ็คเกจหลายรูปแบบให้ผู้ป่วยเลือกรับบริการ รวมทั้งการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ และยาโมลนูพิราเวียร์ ให้ผู้ป่วยนำกินระหว่างกักตัวตามอาการ

เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2565 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) พร้อมด้วย นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า โรงพยาบาลไม่ได้มีการยื่นเรื่องขออนุมัติ และไม่ได้รับอนุมัติให้โฆษณาจากสบส.

จึงแจ้งข้อหาการกระทำผิดกับผู้เกี่ยวข้อง ตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะระงับการโฆษณาหรือประกาศดังกล่าว

 

นอกจากนี้รการโฆษณาแพ็คเกจการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นการจ่ายยาตามอาการ โดยไม่ได้จ่ายยาให้กับผู้ป่วยในทุกราย ทำให้ผู้รับบริการเกิดความเข้าใจผิด ในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการสถานพยาบาลว่า เมื่อเข้ารับบริการแล้วจะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาโมลนูพิราเวียร์

จึงถือเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 38 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะระงับการโฆษณาหรือประกาศดังกล่าว

สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์ และยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาควบคุมพิเศษ ที่ภาครัฐจัดสรรให้สถานพยาบาลนำมาให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ตามอาการอย่างเพียงพอ โดยไม่มีการจำหน่ายแต่อย่างใด 

อ่านข่าวเพิ่ม เตือนตลาดมืดลอบขายยา "โมลนูพิราเวียร์" เสี่ยงตับวายไตพัง

อย.เตือนอย่าซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ทางออนไลน์

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ขณะนี้สั่งระงับโฆษณาและดำเนินคดีโฆษณาขายยาโควิด-19 ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย และแพลตฟอร์มตลาดร้านค้าออนไลน์ (E-marketplace) เพื่อไม่ให้เป็นช่องทาง ที่ใช้ส่งต่อยาผิดกฎหมายให้ผู้บริโภค และจะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด กับผู้ที่ลักลอบขายในทุกช่องทาง

และอย.จะร่วมกับกรมควบคุมโรค เฝ้าระวังการนำเข้ายาตามด่านต่างๆ เพื่อสกัดไม่ให้มีการนำเข้ายาผิดกฎหมายหรือยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับทาง อย.เข้ามาในประเทศ 

ส่วนกรณีโรงพยาบาลเอกชนโฆษณาแพ็จเกจรักษาโรคโควิด-19  และโฆษณาด้วยข้อความว่า จะมีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์หรือยาโมลนูพิราเวียร์ให้ผู้ป่วยด้วย ซึ่งยาดังกล่าวเป็นยาควบคุมพิเศษ ที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ สถานพยาบาลไม่สามารถโฆษณาได้นอกจากได้รับอนุญาต

จากการตรวจสอบไม่มีการขออนุญาต ซึ่งสบส.สั่งเอาผิดแล้ว ยืนยันสธ.มีการสำรองยาโมลนูพิราเวียร์เพียงพอ แต่ที่สำคัญขอให้รับยาจากแหล่งที่ถูกต้องคือโรงพยาบาลของรัฐ เอกชนที่ได้รับจัดสรรยาจากภาครัฐ ไม่ควรซื้อยาผ่านช่องทางสื่อออนไลน์

นพ.ไพศาล กล่าวว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์  แพทย์จะมีการประเมินอาการและสั่งจ่ายตามข้อบ่งใช้ตามแนวทางการรักษาโควิด-19 ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์ ยังมีข้อควรระวังในการใช้ยา โดยเฉพาะการห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และยังต้องมีการติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากยาอย่างใกล้ชิดด้วย หากผู้ป่วยสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ทางออนไลน์มากินเองอาจได้รับยาปลอม ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งไม่ปลอดภัย ต่อตัวผู้ป่วยเอง และการใช้ยานี้อย่างไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยา 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดรามา! แพทย์ตอบปม "อนุทิน" ติดโควิดได้รับ "ยาโมลนูพิราเวียร์"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง