ฟาร์มเลี้ยงไก่ผลิตก๊าซให้ชาวบ้านใช้ลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน

ภูมิภาค
19 ส.ค. 65
10:22
348
Logo Thai PBS
ฟาร์มเลี้ยงไก่ผลิตก๊าซให้ชาวบ้านใช้ลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ก๊าซหุงต้ม ปรับขึ้นราคาทุกเดือน ซึ่งส่งผลกระทบกับประชาชน แต่กับหมู่บ้านกอข่อย ต.หนองหนาม อ.เมือง จ.ลำพูน ผู้ประกอบการฟาร์มไก่ ทำบ่อหมักผลิตก๊าซชีวภาพ แจกจ่ายให้กับชาวบ้านได้ใช้ และให้ชาวบ้านบริหารจัดการกันเองเก็บเงินเพียงวันละ 1 บาท ต่อครัวเรือน

การนำมูลไก่เข้าสู่บ่อหมักเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ รวมถึงการตรวจเช็คอุปกรณ์ต่างๆ บริเวณบ่อหมัก โดยเฉพาะท่อจ่ายก๊าซไปที่บ้านของชาวบ้าน เป็นกิจวัตรประจำวันของเจ้าของฟาร์มเลี้ยงไก่ ใน ต.หนองหนาม อ.เมือง จ.ลำพูน


นายอร่าม อุประโจง เจ้าของฟาร์มเลี้ยงไก่ บอกว่าได้ลงทุนกว่า 2 ล้านบาททำบ่อผลิตก๊าซ จ่ายให้กับชาวบ้านได้ใช้ทำอาหารมาตั้งแต่ปี 2549 ลดปัญหาความขัดแย้งกับชาวบ้านรวมถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาเรื่องกลิ่น

 

ปัจจุบันฟาร์มไก่แห่งนี้เลี้ยงไก่ประมาณ 16,000 ตัว ผลิตก๊าซชีวภาพได้วันละประมาณ 320 ลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 12 ถังก๊าซขนาด 15 กิโลกรัม ส่งตามท่อซึ่งมีความยาวประมาณ 8 กิโลเมตร เข้าบ้านของชาวบ้านได้ใช้จำนวน 140 ครัวเรือน


นายทรงศักดิ์ ใจเดิม รองประธานกลุ่มผู้ใช้ก๊าซชีวภาพ บ้านกอข่อย ต.หนองหนาม อ.เมืองลำพูน บอกว่าชาวบ้านช่วยบริหารจัดการกันเองโดยเก็บหลังคาละ 30 บาทต่อเดือน หรือวันละ 1 บาท เพื่อนำมาซ่อมแซมท่อหรืออุปกรณ์ส่วนที่เสียหาย ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก สามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย จากเดิมใช้ก๊าซหุงต้มครัวเรือนละ 1 ถัง แต่ขณะนี้ไม่ได้ซื้อก๊าซอีกเลย


ด้านนายอำนาจ ปันพฤกษ์ รองนายก อบต.หนองหนาม อ.เมืองลำพูน บอกว่า อบต. ได้เข้ามาดูแลเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะการตรวจสอบท่อที่ส่งก๊าซ ไปตามบ้านเรือน รวมถึงทำความเข้าใจระหว่างชาวบ้านกับผู้ประกอบการ เพื่อลดความขัดแย้งในชุมชน


ปัจจุบันการเปิดก๊าซให้ชาวบ้านใช้ จะเปิด 2 ช่วงเวลาคือช่วงเช้าตั้งแต่ 05.00 น. ถึง 09.00 น. และตอนเย็น 16.00 น. ถึง 20.00 น. แต่หากวันไหนมีงานบุญ หรือเหตุจำเป็นอาจเปิดได้ตลอดทั้งวัน ซึ่งปริมาณก๊าซที่ผลิตได้ขึ้นอยู่กับปริมาณมูลไก่

 

ที่ผ่านมามักเกิดปัญหาระหว่างชาวบ้านกับเจ้าของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะเรื่องกลิ่น และแมลงวัน แต่หากมีการปรับเปลี่ยนการเลี้ยงเป็นระบบปิด นำของเสียเปลี่ยนเป็นก๊าซและใช้ประโยชน์ ก็สามารถทำให้ผู้ประกอบการอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืนเหมือนหมู่บ้านแห่งนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง