เช็คอินออนไลน์ อันตรายจนต้อง เช็คเงินในบัญชี

สังคม
27 ต.ค. 65
20:00
929
Logo Thai PBS
เช็คอินออนไลน์ อันตรายจนต้อง เช็คเงินในบัญชี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ไทย" ติด 1 ใน 10 เชื้อชาติที่ถูกกลุ่มก่อการร้าย "ลักพาตัว" ซึ่งการลักพาตัว ถือว่าเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่ UN ให้ความสำคัญและเรียกร้องให้รัฐสมาชิกต้องให้ความช่วยเหลือ หากพลเมืองของตนถูกจับตัวเรียกค่าไถ่

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หากต้องการเดินทางท่องเที่ยวคนเดียวในต่างประเทศ ยิ่งเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายสูง ความปลอดภัยในการใช้ชีวิตต่ำ เช่น การก่อการร้าย สงคราม การจี้ปล้น หรือแม้กระทั่ง การลักพาตัว การหาทางป้องกันชีวิตตัวเอง คือสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้การเดินทางนั้นราบรื่นและปลอดภัยมากที่สุด

การหาเงินของกลุ่มก่อการร้าย

“การลักพาตัว” บุคคลที่มีชื่อเสียงเพื่อ “เรียกค่าไถ่” ถือเป็นภารกิจหลักในการหาเงิน หรือแสวงหาผลประโยชน์อื่นๆ ของกลุ่มก่อการร้ายทั่วโลก เงินที่ได้มานั้นจะถูกนำไปเสริมสร้างกองกำลังของกลุ่มให้แข็งแกร่งขึ้นเพื่อที่จะสามารถดำเนินการโจมตีได้ตามเป้าประสงค์

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการประเมินจากองค์การสหประชาชาติว่า กลุ่มอัลกออิดะห์และกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงอื่นๆ ทั่วโลก หาเงินจากการลักพาตัวผู้คนเพื่อเรียกค่าไถ่ได้มากกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกพยายามร่วมมือกันเพื่อต่อต้านอาชญากรรมระดับโลกที่ถูกเรียกว่า “การระดมทุนขององค์กรก่อการร้าย”

ในที่ประชุมองค์การสหประชาชาติมีมติเป็นเอกฉันท์คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1904 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2552 กำหนดให้รัฐสมาชิก ต้องช่วยกันป้องกันการจ่ายเงินค่าไถ่ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ผู้ก่อการร้าย และหลายประเทศทั่วโลกก็มีนโยบายที่จะปกป้องชีวิตพลเมืองตนเองและพยายามลดกลุ่มผู้ก่อการร้ายเพื่อให้สอดคล้องกับมตินี้เช่นกัน

 

เปิดตัวเลขเคสการลักพาตัวบนโลก

เว็บไซต์ Constellis แสดงข้อมูลการลักพาตัวในภูมิภาคต่างๆ บนโลกในช่วงปี 2564 ดังนี้

Top 10 ประเทศที่มีการลักพาตัวชาวต่างชาติ / นักท่องเที่ยวที่สูงที่สุด
     1. เม็กซิโก                  ร้อยละ 18
     2. ลิเบีย                     ร้อยละ 15
     3. ไฮติ                      ร้อยละ 7
     4. สหรัฐอเมริกา            ร้อยละ 6
     5. แอฟริกาใต้              ร้อยละ 6
     6. ตุรกี                      ร้อยละ 6
     7. กัมพูชา                  ร้อยละ 6
     8. ซีเรีย                     ร้อยละ 4
     9. ไนจีเรีย                  ร้อยละ 3
     10. ฟิลิปปินส์              ร้อยละ 2
  และจากพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลกอีก ร้อยละ 26



Top 10 เชื้อชาติที่ถูกลักพาตัวมากที่สุด
     1. จีน
     2. อียิปต์
     3. ฮอนดูรัส
     4. ไทย
     5. เอธิโอเปีย
     6. โดมินิกัน
     7. เวเนซูเอลา
     8. อิรัก
     9. เอลซัลวาดอร์
     10. สหรัฐอเมริกา



ในขณะที่เว็บไซต์ Controlrisks วิเคราะห์ความน่าจะเป็นของการลักพาตัวว่า มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ, การบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอ, และทรัพยากรที่ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต และโรคโควิด-19 ที่กลายเป็นแรงกระตุ้นให้มีการก่อเหตุเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลทรัพย์สินที่กลุ่มก่อการร้ายได้เงินจากการเรียกค่าไถ่ในปี 2562 มีราว 28.7 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในปี 2564 กลับสูงขึ้นถึง 77.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

จ่ายค่าไถ่ด้วยปลายนิ้ว

อีก 1 แนวโน้มที่น่าจับตาคือ การจ่ายเงินค่าไถ่ด้วยการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือโอนเงินผ่านมือถือนั่นเอง ซึ่ง บราซิล เป็น 1 ในกรณีศึกษาที่มีการจ่ายเงินเพื่อไถ่ตัวประกันมากถึงร้อยละ 22 ของข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ในปี 2564 คนทั่วไปอาจจะคิดว่าการจ่ายเงินเรียกค่าไถ่จะต้องเป็นเงินสดเท่านั้น แต่ผู้ก่อเหตุก็ใช้ประโยชน์จากโลกดิจิทัลได้เช่นกัน ที่แม้กระทั่งการจ่ายเงินด้วยสกุลเงินดิจิทัลก็เกิดขึ้นมาบ้างแล้ว

ทำตัวเองให้เป็นเป้าหมายที่ยากที่สุด

บริษัทประกันภัยในสหรัฐอเมริกา Hylant Property & Casualty Risk Practice ได้ให้คำแนะนำด้านความปลอดภัย กรณีการลักพาตัวและเรียกค่าไถ่ ไว้ว่า

1. ต้องแจ้งสถานทูตของประเทศตนเองในประเทศปลายทางที่เดินทางไป
2. พกข้อมูลที่มีเพียงข้อมูลพื้นฐานเท่านั้น หลีกเลี่ยงการบอกชื่อบริษัทหรือตำแหน่งการทำงาน
3. แต่งตัวให้ใกล้เคียงกับคนในท้องถิ่นมากที่สุด
4. อย่าบอกแผนการเดินทางบนโลกโซเชียลอย่างเด็ดขาด เพื่อหลีกเลี่ยงการทำให้ผู้ก่อเหตุติดตามตำแหน่งได้
5. หากต้องอยู่ในประเทศนั้นๆ มากกว่า 1 คืน ให้หลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางเดิม ร้านอาหารร้านเดิม การทำกิจกรรมต่างๆ รูปแบบเดิมๆ ให้มากที่สุด
6. อย่ารับโทรศัพท์ในที่สาธารณะ เพราะอาจถูกดักจับสัญญาณได้
7. ในบางประเทศ หน่วยงานท้องถิ่น อาจทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ก่อเหตุได้

การที่เราไม่ค่อยได้ยินเรื่องของการลักพาตัวเพื่อเรียกค่าไถ่ ไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นในโลกหรือแม้กระทั่งกับตัวเองรวมถึงคนรอบข้าง การดูแลตัวเองในทุกๆ ขั้นตอนของการเดินทาง ยิ่งโดยเฉพาะหากต้องเดินทางคนเดียวในประเทศที่มีความเสี่ยงทางอาชญากรรมการลักพาตัวสูง ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากที่สุด

โดยเฉพาะการใช้โซเชียลเพื่อบอกถึงเรื่องราวที่เราได้เจอ ได้เห็น แม้ในมุมบวก จะเป็นการแบ่งปันเรื่องราวดีๆ ที่ได้พบเจอให้เพื่อนในโลกโซเชียลได้เห็นไปพร้อมๆ กัน แต่ก็ถือเป็นดาบสองคมเช่นกัน เพราะไม่มีใครรู้ได้เลยว่า คนที่เฝ้ารอการอัพเดตเรื่องราว สถานที่ แผนการเดินทางต่างๆ ของเรา จะเป็นคนที่หวังประโยชน์ในเรื่องเงินๆ ทองๆ จากเรากี่คน

ที่มา : constellis, Controlrisks, Hylant Property & Casualty Risk

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง