บทวิเคราะห์ : ชัยชนะใครคว่ำเหล้าเสรี?

การเมือง
3 พ.ย. 65
09:03
319
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : ชัยชนะใครคว่ำเหล้าเสรี?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

1 พฤศจิกายน 65 เป็นวันเปิดประชุมสามัญรัฐสภาสมัยสุดท้าย ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ร่างกฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนฯ แต่ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการในชั้นวุฒิสภา จะรอไปพิจารณากันต่อประชุมสมัยครั้งหน้า แต่หากยังค้างคาไม่ผ่านในชั้นสภาผู้แทนฯ จะตกไปหรือต้องไปเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ ในการประชุมสมัยต่อ ๆ ไป

การประชุมสามัญสมัยสุดท้าย ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง อย่างน้อย ร่างกฎหมาย 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใหญ่ ที่ได้ใช้เป็นนโยบายหาเสียงไว้ตั้งแต่เลือกตั้งครั้งที่แล้ว หรืออาจจะเตรียมใช้หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับแรก เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย คือ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. แม้จะผ่านสภาผู้แทนฯไปแล้ว แต่อยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา และล่าสุด วุฒิสภาเพิ่งมีมติรับหลักการในวาระที่ 1

แต่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาไม่ให้คิดค่าปรับ ไม่คิดดอกเบี้ยจากผู้ผิดนัดชำระ เพราะเห็นว่าจะมีปัญหาเรื่องระเบียบวินัย และความรับผิดชอบ

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ยังแสดงความห่วงเรื่องกรอบเวลา หากมีการปรับแก้เนื้อหา อาจทำให้ไม่เสร็จสิ้นภายในสมัยประชุมนี้

อีก 1 ร่างกฎหมายของพรรคภูมิใจไทย คือร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง แม้ผ่านวาระรับหลักการ และผ่านชั้นกรรมาธิการไปแล้ว แต่พอถึงการพิจารณาในวาระที่ 2 กลับถูกรุมสกัด บีบให้ถอนร่างออกไปให้พิจารณาใหม่ โดยเฉพาะจากพรรคประชาธิปัตย์ “แชมป์เก่า”ในสนามเลือกตั้งภาคใต้ ที่พรรคภูมิใจไทยจะเป็นผู้ท้าชิงหลัก

แม้ว่าจะมีคิวกลับเข้าสู่การพิจารณาใหม่ แต่ยังต้องลุ้นว่า จะได้เข้าวาระการประชุมต่อวาระที่ 2 ของสภาผู้แทนฯวันไหน หรือหากเข้าได้ทัน ก็ต้องลุ้นให้ผ่านทั้งสภาผู้แทนฯและวุฒิสภาทันสมัยประชุมนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ยังไม่นับปัจจัยอื่นที่นอกเหนือการควบคุมของพรรค อาทิ ยุบสภาขณะที่ร่างกฎหมายยังไม่ผ่าน

กระทั่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซัดแบบไม่เกรงใจใครว่าเป็นเกมการเมือง ตั้งธงเตะถ่วง ยื้อออก พ.ร.บ.กัญชาออกไป ทั้งที่ร่างมาด้วยกัน แต่กลับโดนคว่ำ เอาสีข้างเข้าถู กลืนน้ำลายตัวเอง เพราะนโยบายโดนใจผู้คน คงกลัวพรรคภูมิใจไทยจะได้เสียงจากประชาชน

โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ที่ตกเป็นเป้าตัวตั้งตัวตีบีบให้ถอนร่างออกมา ในวาระแรกก็สนับสนุนเต็มที่ ก่อนจะมากลับลำทีหลัง จึงถูกวิพากษ์ว่า เพราะต้องสกัดพรรคภูมิใจไทย ที่จะเป็นพรรคหลักสำคัญ ที่จะเป็นคู่ชิงเก้าอี้ ส.ส.ในภาคใต้

ขณะที่พรรคก้าวไกล หนักกว่าใครเพื่อน เพราะเป็นฝ่ายค้าน และร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า หรือเหล้าเสรี ที่พรรคเสนอให้ที่ประชุมสภาพิจารณาวาระที่ 2 ในวันแรกของการประชุมสภาฯ (2 พ.ย.)

ท่ามกลางกระแสข่าวจะโดนตีตกโดยพรรคร่วมรัฐบาลตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. โดยให้เหตุผลเรื่องความปลอดภัย ป้องกันการต้มเหล้าเถื่อน วางขายเกร่อ และการผลิตไม่ได้คุณภาพ

หลังจากวันก่อน (1 พ.ย.) จู่ ๆ ครม.ก็เห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงอนุญาตผลิตสุรา ที่กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิตเป็นผู้เสนอ ปาดหน้าร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล ที่จ่อคิวเข้าสภาฯ พิจารณาวาระ 2 เพียง 1 วัน

ด้วยเหตุผลคล้ายๆ เดิม แต่ที่เพิ่มขึ้น คือหากดื่มเหล้าเถื่อนที่ไม่ได้มาตรฐานเข้าไป อาจถึงขั้นตาบอด หรือเสียชีวิต และร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลหย่อนเกินไป จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อรายได้จัดเก็บภาษีของรัฐบาลด้วย

ขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ตอบโต้และวิพากษ์กลับเรื่องนี้อย่างรุนแรง โดยระบุว่า แม้จะมีการปลดล็อกทั้งเรื่องกำลังการผลิต เงินทุนจดทะเบียน และขนาด แต่กลับมีกฎระเบียบเงื่อนไขมากมาย จนยากเกินกว่ารายย่อยจะสามารถทำได้จริงอย่างที่ฝ่ายรัฐบาลอ้างถึง ถือว่าประชาชนและพรรคก้าวไกลโดนลวงมาตลอด

ก่อนที่ท้ายที่สุด ร่างกฎหมายสุราเสรีที่หวังทลายกำแพงผูกขาดจากเจ้าสัวยักษ์ใหญ่โดนตีตกจนได้

พูดไปสองไพเบี้ย ตราบใดที่เสียงส่วนใหญ่ยังเป็นของรัฐบาล และไม่เลิกล้มแผนจะเดินหน้าไปต่อ อะไรที่ไม่เป็นคุณหรือเป็นอุปสรรคขวางกั้น ย่อมต้านทานลำบาก...เป็นสัจธรรม

 

วิเคราะห์โดย : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง