เร่งคลอดระบบ Blockchain แจ้งเบาะแสยาเสพติด ไม่รู้ตัวตน-ได้เงินนำจับ

อาชญากรรม
5 พ.ย. 65
14:50
464
Logo Thai PBS
เร่งคลอดระบบ Blockchain แจ้งเบาะแสยาเสพติด ไม่รู้ตัวตน-ได้เงินนำจับ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กระทรวงยุติธรรมเร่งคลอดระบบ Blockchain แจ้งเบาะแสยาเสพติดแบบไม่รู้ตัวตน คาดประชาชนกล้าแจ้งมากขึ้น หวังช่วยลดข่าวหลอนยาก่อเหตุ มั่นใจสิ้นเดือน พ.ย.นี้ ได้ใช้

วันนี้ (5 พ.ย.2565) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาระบบ Blockchain ในการแจ้งเบาะแสยาเสพติดและรับเงินรางวัลนำจับว่า ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามการพัฒนาระบบ Blockchain ในการแจ้งเบาะแสยาเสพติด เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้แจ้งเบาะแส ที่จะไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนผู้แจ้งได้

ระบบ Blockchain ในการแจ้งเบาะแสยาเสพติด คิดค้นขึ้นเพื่อแก้ปัญหาประชาชนไม่กล้าแจ้งเบาะแสยาเสพติด เนื่องจากกังวลว่าจะไม่ปลอดภัย โดยจัดทำระบบให้มีความปลอดภัยตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งมีความคืบหน้าเป็นลำดับ แต่ยังรู้สึกช้าไป เพราะต้องรอขั้นตอนการอนุมัติใช้เงินศึกษา ประมาณ 8-9 แสนบาท ซึ่งต้องการให้เสร็จก่อนสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ เพราะขณะนี้ยังเกิดข่าวคนหลอนยาเสพติด ก่อเหตุทำร้ายผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง จึงต้องการระบบแจ้งเบาะแส ที่มีชั้นความลับสูงมาก มาเป็นหนึ่งในกลไกแก้ปัญหายาเสพติด

พล.ต.ต.บรรพต มุ่งขอบกลาง รองผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กล่าวว่า ระบบ Blockchain จ่ายรางวัลนำจับ เป็นเรื่องที่ต่างชาติให้ความสนใจ ซึ่งได้พูดคุยกับหน่วยงานของต่างประเทศ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า ระบบที่กำลังทำนี้ ยังไม่มีประเทศใดทำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี จะได้มีเครื่องมือหลากหลายในการแก้ปัญหายาเสพติด เพราะระบบนี้จะไม่มีใครทราบว่า ใครเป็นคนแจ้งเบาะแส โดยจะมีความปลอดภัยที่สูงมาก ไม่สามารถมีการแฮ็กระบบได้ ซึ่งก็จะช่วยให้ประชาชนกล้าแจ้งเบาะแสมากขึ้น โดยขั้นตอนขณะนี้ ได้ให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ศึกษาวิจัยเทียบระบบเก่ากับระบบใหม่ เพื่อทำให้ระบบนี้ มีความสมบูรณ์มากขึ้น และกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ในการแก้ปัญหายาเสพติด

นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ระบบ Blockchain ในการแจ้งเบาะแสยาเสพติด จะช่วยทำให้ ป.ป.ส. สามารถยึดอายัดทรัพย์ของขบวนการค้ายาเสพติด ได้ตามเป้า 1 แสนล้านบาท ซึ่งการอายัดทรัพย์นั้น สังคมยังเกิดความเข้าใจที่คาดเคลื่อน เพราะการอายัด ไม่ได้นำเงินเข้ากองทุนยาเสพติดทันที

แต่ต้องมีขั้นตอน เช่น เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปยึดอายัดทรัพย์ ต้องมีการกลั่นกรอง โดยให้เลขาธิการ ป.ป.ส. ออกคำสั่งยึดอายัดชั่วคราว และส่งต่อไปคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของแต่ละภาค จากนั้นจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ก่อนส่งให้อัยการ และส่งศาลพิจารณาตามลำดับ ถึงจะสามารถมีคำสั่งยึดทรัพย์เข้ากองทุนยาเสพติดได้

ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี และเงินกองทุนฯ ก็ไม่สามารถใช้โดยพลการได้ ต้องมีการขออนุมัติจากกรมบัญชีกลางก่อน

อ่านข่าวอื่น ๆ

คุมตัวชายใช้มีดฟัน "ผู้ใหญ่บ้าน" อุดรฯ เสียชีวิต 

"โอฬาร" ชี้ประชาธิปัตย์เล่นเกม กม.กัญชา สู้ภูมิใจไทย หลังเป็นรองพื้นที่ภาคใต้

อดีตนายกฯ ปากีสถานเปิดใจ ชี้คนอยู่เบื้องหลัง เหตุลอบยิง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง