ผู้บาดเจ็บจากชุมนุม ราษฎรหยุด APEC 2022 แจ้งความเอาผิดตำรวจ

อาชญากรรม
19 พ.ย. 65
19:39
415
Logo Thai PBS
ผู้บาดเจ็บจากชุมนุม ราษฎรหยุด APEC 2022 แจ้งความเอาผิดตำรวจ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ชุมนุมวานนี้ รวมตัวกันแจ้งความที่ สน.สำราญราษฎร์ เพื่อดำเนินคดีกับตำรวจ พร้อมเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่ง ขณะที่หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน วิจารณ์การทำงานในการควบคุมเหตุการณ์ชุมชุมของตำรวจ และเรียกร้องให้ภาครัฐตรวจสอบ

วันนี้ (19 พ.ย.2565) ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุเผชิญหน้ากับตำรวจควบคุมฝูงชน ที่ถนนดินสอ จากการเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "ราษฎรหยุดเอเปค 2022" รวมตัวกันที่สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ พร้อมหลักฐาน เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจ โดยอ้างว่าถูกตำรวจทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บ

นายอานนท์ นำภา เปิดเผยว่า ได้รวบรวมหลักฐาน ซึ่งเป็นคลิปวิดีโอการเข้ากระชับพื้นที่ของตำรวจ ซึ่งพบการทำร้ายร่างกายกลุ่มผู้ชุมนุม พร้อมนำใบรับรองแพทย์ของผู้บาดเจ็บ เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดี ต่อผู้กำกับการ สน.สำราญราษฎร์ และผู้บัญชาการเหตุการณ์ ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทำร้ายร่างกาย โดยมองว่าเป็นการกระทำที่เกิดกว่าเหตุ การดำเนินคดีเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานของสังคม และเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งให้กับผู้ได้รับบาดเจ็บ

นพ.ทศพร เสรีรักษ์ นักเคลื่อนไหวการชุมนุม เปิดเผยถึงการอาการของหนึ่งในผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ที่ถูกกระสุนยางยิงเข้าที่ดวงตาข้างขวาว่า แพทย์วินิจฉัยว่าเบ้าตาขวา เปลือกตา อยู่ในสภาพฉีกขาด ขณะนี้ยังไม่สามารถมองเห็นแสง และยากต่อการมองเห็น

ขณะที่ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม อ่านแถลงการณ์ให้หยุดการคุกคามและทำร้ายผู้เห็นต่างทางการเมือง เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย

สำหรับผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่ถูกตำรวจจับดำเนินคดีเมื่อวานนี้ มี 25 คน และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากการประกันตัวแล้ว ตำรวจแจ้งข้อหาหลัก 2 ข้อคือ มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป และข้อหาไม่ยอมเลิกมั่วสุมเพื่อกระทำผิดตามมาตรา 215 ตามที่เจ้าพนักงานสั่งให้เลิก ส่วนความผิดในข้อหาอื่น ๆ อาจจะแตกต่างกันไปตามพฤติการณ์รายบุคคล

เรียกร้องรัฐตรวจสอบข้อเท็จจริง

เหตุการณ์เผชิญหน้าวานนี้ ตำรวจแจ้งว่า มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 15 นาย ผู้ชุมนุมบาดเจ็บ 5 คน ซึ่งรวมไปถึงสื่อมวลชนด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ตำรวจและรัฐบาล ตรวจสอบข้อเท็จจริงการใช้ความรุนแรง เช่นเดียวกับแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย วิจารณ์การทำงานของตำรวจว่าไม่เป็นไปตามหลักสากล

ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทุกฝ่าย ไม่แสดงพฤติกรรมยั่วยุ หรือสร้างเงื่อนไขการใช้ความรุนแรงต่อกัน และการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ คฝ.ต้องดำเนินการตามขั้นตอนและหลักปฏิบัติสากล เคารพในสิทธิ์การชุมนุม และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

บทวิเคราะห์ : #ม็อบ18พฤศจิกา65

แจ้ง 7 ข้อหามวลชน 25 คน "ต้านเอเปค" ส่งฟ้องศาล 19 พ.ย.นี้

จับแกนนำราษฎรหยุด APEC 2022 บาดเจ็บบางส่วนถูกกระสุนยาง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง