พะเยาดันโครงการ “เมืองแห่งการเรียนรู้” รองรับเด็กพิการ

สังคม
23 ธ.ค. 65
09:50
317
Logo Thai PBS
พะเยาดันโครงการ “เมืองแห่งการเรียนรู้” รองรับเด็กพิการ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

พะเยา เป็นจังหวัดขนาดเล็กทางภาคเหนือตอนบน ที่มีประชากรอยู่เพียง 464,505 คน และมีแนวโน้มลดจำนวนลง แต่ในทางตรงกันข้าม มีประชากรที่เป็นคนพิการเพิ่มขึ้น จาก 23,858 คน ในปี 2563 เป็น 24,053 คน ในปี 2565 หรือ 5.17 % ของประชากรทั้งหมด

ในจำนวนนี้มีเด็กพิการประเภทต่างๆ ที่อยู่ในระบบการศึกษาทุกสังกัดตามการสำรวจของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดพะเยา 2,588 คน แต่ไม่มีตัวเลขแน่ชัดว่า อยู่นอกระบบการศึกษามาก-น้อยแค่ไหน

ตลอดปีที่ผ่านมา รัฐบาลเดินหน้านโยบาย “พาน้องกลับมาเรียน” จ.พะเยา สามารถติดตามเด็กพิการที่อยู่นอกระบบการศึกษาได้ 1,466 คน แต่แจ้งความประสงค์จะเข้าศึกษาต่อเพียง 11 คนเท่านั้น ส่วนใหญ่ ต้องการให้มีการฝึกอาชีพ และพัฒนาทักษะชีวิต

นี่เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลที่ได้จากการพูดคุยในเวทีเสวนา “โครงการจัดการเรียนรู้บนพื้นที่พะเยาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อน” ที่มหาวิทยาลัยพะเยา เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ผศ.ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า การผลักดันพะเยาเข้าสู่ “เมืองแห่งการเรียนรู้” มีหลักเกณฑ์ข้อหนึ่งระบุไว้ว่า จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เด็กและเยาวชนพิการ เป็นกลุ่มเด็กเปราะบางมาก แต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจ มหาวิทยาลัยฯ จึงต้องการสานต่อภารกิจของการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ ให้ครอบคลุมเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้

ดร.นิสาพร วัฒนศัพท์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า พะเยา เป็น 1 ใน 12 จังหวัดนำร่อง ในการพัฒนาระบบและกลไก การดูแลเด็กยากจนและด้อยโอกาส แต่โจทย์ที่จังหวัดพะเยาเลือกมีความซับซ้อน ทั้งจากปัญหาการเข้าไม่ถึงการเรียนรู้ สวัสดิการ

รวมถึงระบบบริการสุขภาพ การเปิดพื้นที่ให้แต่ละหน่วยงานได้มานำเสนอและแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนานวัตกรรม ในการช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้

จุรีมาส วิลากลาง นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย ที่เดินทางมาจาก โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ตนรู้สึกทึ่งที่เห็นหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาคการศึกษา ภาคสุขภาพ กรมราชทัณฑ์ และผู้ปกครอง มาร่วมกันหาทางออก

พะเยาเป็นจังหวัดเล็ก ไม่มีทรัพยากรมากเท่ากับจังหวัดใหญ่ ๆ แต่ที่ประชุมวันนี้ เห็นว่าที่นี่มีบุคลากรหลายด้านๆ ที่ผนึกกำลังกัน และเชื่อว่า จะสามารถสร้างระบบดูแลเด็กที่มีความต้องการเป็นพิเศษได้

แม้จะเห็นพลังความร่วมมือและความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาของภาคีต่างๆ แต่ประเด็นสำคัญที่ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา มองว่า จะช่วยทำให้การขับเคลื่อนงานมีความคืบหน้าคือ การมาร่วมกันกำหนดเป้าหมายสุดท้ายว่า ต้องการให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้เป็นอย่างไร

จะแค่ให้ช่วยเหลือตัวเองได้ สื่อสารได้ หรือต้องการให้ประกอบอาชีพได้ ถ้าเป้าหมายชัดก็จะสามารถย้อนกลับทบทวนได้ว่า แผนและภารกิจของแต่ละหน่วยงานที่จะเดินต่อไป จะเป็นอย่างไร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง