"วงปีของไม้" บ่งบอกรังสีอันตรายจากอวกาศมาปะทะทุก 2-3 พันปี

Logo Thai PBS
"วงปีของไม้" บ่งบอกรังสีอันตรายจากอวกาศมาปะทะทุก 2-3 พันปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า "วงปีของไม้" นั้น บันทึกเหตุการณ์ที่รังสีอันตรายจากอวกาศเข้ามาปะทะกับโลก ผ่านธาตุคาร์บอน-14 ที่หลงเหลืออยู่

ต้นไม้ขนาดยักษ์หลากหลายสายพันธุ์นั้น ถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถมีอายุขัยได้ยาวนานหลายร้อยหลายพันปี โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านพ้นไปในแต่ละปีนั้น ก็ได้มีเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์เกิดขึ้นอย่างมากมายบนท้องฟ้า ซึ่งเหตุการณ์บางเหตุการณ์ก็ได้ปลดปล่อยพลังงานออกมาอย่างมหาศาล เสียจนทิ้งร่องรอยไว้ให้กับต้นไม้บนโลกได้

นักวิทยาศาสตร์จึงต่างได้ทยอยศึกษาวงปีไม้อย่างละเอียด ผ่านการตรวจสอบธาตุคาร์บอน-14 ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อมีรังสีจากอวกาศเดินทางเข้ามาปะทะที่บริเวณชั้นบรรยากาศส่วนบนของโลก ซึ่งถ้าเกิดว่าช่วงไหนมีรังสีจากอวกาศพุ่งเข้ามายังโลกมาก ก็จะมีจำนวนของธาตุคาร์บอน-14 ตกลงมายังต้นไม้และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

โดยในปี ค.ศ. 2012 นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ฟูซะ มิยาเกะ ได้ค้นพบว่า วงไม้วงหนึ่งที่ก่อตัวขึ้นเมื่อราว ค.ศ. 774 ว่ามีปริมาณคาร์บอน-14 พุ่งขึ้นสูงอย่างมหาศาลราว 20 เท่าจากอัตราปกติในแต่ละปี จนกระทั่งเมื่อมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ได้เข้ามาร่วมศึกษาเรื่องนี้มากขึ้น

พวกเขาก็ค้นพบว่าคาร์บอน-14 ในวงปีของไม้นั้นมีปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นช่วง ๆ นับตั้งแต่ยุคโบราณเมื่อ 7,176 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนที่จะเว้นว่างไป 2 พันปี ซึ่งได้กลับมาปรากฏขึ้นอีกครั้งในช่วง 5,259 ปี และ 5,410 ปีก่อนคริสตกาลตามลำดับ และเกิดการเว้นช่วงครั้งใหญ่เป็นครั้งที่สอง จนกระทั่งเวลาผ่านพ้นมายังปี ค.ศ. 663 และ ค.ศ. 993 สัญญาณของธาตุคาร์บอน-14 ก็ได้ปรากฏขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนสาเหตุของรังสีอวกาศที่รุนแรงขึ้นจนทำให้เกิดธาตุคาร์บอน-14 ปริมาณมากขนาดนี้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ทุก 2 ถึง 3 พันปีได้นั้น ก็คงหนีไม่พ้นการปะทุของเปลวสุริยะจากดวงอาทิตย์ หรือไม่ก็เหตุการณ์การระเบิดของดาวฤกษ์ห่างไกลที่ทรงพลังเสียจนส่งพลังงานมายังโลกเราได้ ตามที่นักวิทยาศาสตร์ได้คำนวณไว้

โดยถึงแม้รังสีจากห้วงอวกาศนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตและมนุษย์ แต่ก็กลับสามารถส่งผลให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเรา เกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้ อย่างในกรณีการปะทุของเปลวสุริยะจากดวงอาทิตย์ขนาดย่อม เมื่อปี ค.ศ. 1989 ซึ่งได้ทำให้ภาคตะวันออกของแคนาดา แถบมลรัฐควิเบก เกิดไฟดับเป็นวงกว้างเป็นเวลายาวนาน 12 ชั่วโมง และก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าในทศวรรษต่อจากนี้ อาจมีโอกาสราวร้อยละ 1 ที่เกิดเหตุการณ์รังสีอวกาศเดินทางมาปะทะกับโลกอย่างรุนแรงกว่าที่เคยขึ้นในปี 1989 อีกครั้งภายในศตวรรษนี้

ที่มาข้อมูล: ScienceAlert
ที่มาภาพ: University of Queensland
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง