"เจมส์ เวบบ์" เผยภาพกลุ่มดาวที่กำลังถือกำเนิดใหม่ในกาแล็กซีใกล้เคียง

Logo Thai PBS
"เจมส์ เวบบ์" เผยภาพกลุ่มดาวที่กำลังถือกำเนิดใหม่ในกาแล็กซีใกล้เคียง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักดาราศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ตรวจสอบกลุ่มดาวฤกษ์เกิดใหม่ในเมฆแมกเจลแลนเล็ก (Small Magellanic Cloud) กาแล็กซีแคระขนาดเล็กที่อยู่ใกล้กับทางช้างเผือก เพื่อช่วยศึกษาสภาพแวดล้อมของเอกภพในยุคแรกเริ่ม

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ ได้เผยภาพของ NGC346 หรือ อาณาบริเวณที่กำลังมี "ดาวฤกษ์" ดวงดาวที่ส่องแสงสว่างและมอบความอบอุ่นให้แก่จักรวาลถือกำเนิดขึ้นมา ท่ามกลางกลุ่มเมฆแมกเจลแลนเล็ก (Small Magellanic Cloud) กาแล็กซีแคระขนาดเล็กที่อยู่ใกล้กับทางช้างเผือก ซึ่งได้สร้างความประหลาดใจให้แก่นักดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก

เนื่องจากข้อมูลที่ได้มาแสดงให้เห็นว่ากาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนเล็กนั้น มีปริมาณฝุ่นผงของโลหะหนัก (Cosmic Dust) ที่สามารถมารวมตัวกันเป็นดาวเคราะห์ที่มีพื้นหินแข็งอย่างโลกของเราได้ เมื่อมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมเยอะกว่าที่เราคาดคิดไว้หลายเท่าตัว ผ่านกระบวนการวิเคราะห์คลื่นแสงที่ส่องออกมาว่าถูกธาตุชนิดไหนดูดกลืนเข้าไปบ้าง

ขณะที่ผลการศึกษากลุ่มเมฆแมกเจลแลนเล็กตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา บ่งชี้ว่ากาแล็กซีแคระแห่งนี้ มีธาตุไฮโดรเจนและฮีเลียมกระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณ แต่กลับแทบไม่มีสัญญาณของธาตุโลหะปรากฏอยู่เลย โดยธาตุโลหะนั้นจะก่อตัวขึ้นได้ ณ แกนกลางของดาวฤกษ์ที่มีอุณหภูมิสูงและแรงดันมหาศาลเท่านั้น ก่อนที่จะถูกปลดปล่อยกระจายไปทุกสารทิศเมื่อดาวฤกษ์ได้ดับสลายลง จึงแสดงว่าหากกาแล็กซีไหนมีประชากรดาวฤกษ์ถือกำเนิดขึ้นมาและตายจากไปในอัตราที่ค่อนข้างน้อยในอดีต ก็จะมีธาตุโลหะกระจายอยู่ในกาแล็กซีนั้น ๆ น้อยลงตามไปด้วย

โดยหลักฐานชิ้นสำคัญจากภาพถ่ายของเจมส์ เวบบ์ ที่พิสูจน์ว่าแท้จริงแล้วกาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนเล็กนั้นเต็มไปด้วยธาตุจำพวกโลหะก็คือ ฝุ่นผงที่กำลังปกคลุมอยู่รอบดาวฤกษ์เกิดใหม่มากกว่า 33,000 ดวง ซึ่งได้ดูดกลืนแสงในช่วงคลื่นที่สายตามองเห็นได้ไปเกือบหมด และคายพลังงานออกมาในรูปแบบแสงอินฟราเรดแทน จึงทำให้กล้องโทรทรรศน์รุ่นเก่าไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีกลุ่มก้อนฝุ่นและดวงดาวอยู่ในบริเวณนี้ ในขณะที่เจมส์เวบบ์นั้นถูกออกแบบมาให้ศึกษาช่วงคลื่นอินฟราเรดโดยเฉพาะ

การค้นพบว่ากาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนเล็กนั้น มีปริมาณธาตุโลหะหนักเยอะกว่าที่นักดาราศาสตร์คาดคิดไว้ ยังได้ส่งผลต่อความเข้าใจของเราต่อประวัติศาสตร์ของเอกภพอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพราะว่าองค์ประกอบกาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนเล็กนั้น มีลักษณะใกล้เคียงกับกาแล็กซีในยุคแรกเริ่มของเอกภพเป็นอย่างมาก

จึงหมายความว่า หากกาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนเล็กมีธาตุโลหะอยู่เยอะ อันเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการให้กำเนิดดาวเคราะห์ที่มีพื้นหินแข็งตามที่กล่าวไปข้างต้น กาแล็กซียุคโบราณเมื่อราว 10,000 ล้านปีก่อน ก็อาจมีธาตุโลหะหนักเพียงพอที่จะก่อกำเนิดดาวเคราะห์พื้นหินแข็งเช่นกัน ซึ่งเพิ่มความเป็นไปได้อีกว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตถือกำเนิดขึ้นมาบนดาวเคราะห์หินเหล่านั้นด้วย ก่อนหน้าที่โลกและระบบสุริยะของเราจะเกิดขึ้นหลายพันล้านปีให้หลัง

ที่มาข้อมูล: SPACE.COM , NASA
ที่มาภาพ: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง