สำรวจ "ซิมมือสอง" พบขายเกลื่อนโซเชียล

อาชญากรรม
18 ม.ค. 66
20:11
1,288
Logo Thai PBS
สำรวจ "ซิมมือสอง" พบขายเกลื่อนโซเชียล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เบอร์โทรศัพท์แปลก ๆ ปลายสายเป็นมิจฉาชีพ ที่หลอกให้โอนเงินเสียหายกันไปจำนวนมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นซิมที่ประกาศขายจำนวนมากบนโซเชียลมีเดีย ส่วนใหญ่ซื้อแล้วไม่ต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตน สามารถใช้งานได้ทันที

ซิมโทรศัพท์ประกาศขายในโซเซียลมีเดีย มีหลายค่าย ขายในราคาหลัก 10 บาท พร้อมยังระบุระยะเวลาการใช้งานได้ตั้งแต่ 30 วัน ไปจนถึง 6 เดือน นับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การขายที่ทำให้คนซื้อเข้าถึงซิมได้ง่ายมากขึ้น 

ผู้ขายอ้างว่า ซิมเหล่านี้เกือบทั้งหมดเป็นซิมมือสอง หากซื้อไปแล้วสามารถใช้งานได้ทันทีและ "ไม่ต้องไปลงทะเบียนยืนยันตัวตนซ้ำ" หรือบางเจ้าอ้างว่า เป็นซิมที่ลงทะเบียนมาให้แล้ว ไม่ใช่แค่ไม่ต้องยืนยันตัวตน แต่ผู้ขายยังระบุว่า ซิมเหล่านี้สามารถเล่นแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้ ส่วนใหญ่เป็นแอปฯ ที่ใช้สนทนา

อย่างไรก็ตาม ซิมเหล่านี้ที่สามารถซื้อขายได้ง่ายเกินไป และไม่สามารถตรวจสอบผู้ใช้งานได้จริง อาจจะเป็นช่องว่างที่ทำให้มิจฉาชีพไปกว้านซื้อ และนำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย เช่น แก็งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่

ด้านกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส ได้หารือกับสำนักงาน ปปง. และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ สำนักงาน กสทช. เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางออนไลน์

พบสถิติถือซิมคนเดียว 100 ซิม กว่า 8 พันคน

ขณะที่สถิติผู้ใช้ซิมโทรศัพท์มือถือ มีคนที่ถือซิม 100 ซิมขึ้นไปจำนวน 8,000 คน กสทช.ได้ขอความร่วมมือให้ผู้ใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์ แจ้งผู้ใช้งาน ให้มาลงทะเบียนยืนยันตัวตนภายในเดือน ม.ค.2566 นอกจากนี้ยังมีผู้ถือ 80 ซิม จำนวน 22,000 คน ให้ไปลงทะเบียนยืนยันตัวตนภายในเดือนมีนาคม 2566 และผู้ถือซิม 5 ซิม จำนวน 380,000 คน ให้ไปลงทะเบียนภายในเดือน มิถุนายน 2566

ทั้งนี้ กระทรวงดีอีเอส จะประสานค่ายมือถือ โดยจะส่งเบอร์โทรศัพท์ที่ยืนยันได้ว่าเป็นเบอร์ของมิจฉาชีพ หากมิจฉาชีพส่ง SMS ลิงก์ปลอมเข้ามา ระบบจะเปลี่ยนปลายทางของลิงก์จากที่จะต้องไปยังหน้าเว็บไซต์ของมิจฉาชีพ ก็จะเปลี่ยนไปที่หน้าเว็บไซต์ Google แทน เพื่อป้องกันและสร้างความปลอดภัยในการใช้งาน

สำหรับมาตรการที่หน่วยงานที่รับผิดชอบกำลังดำเนินการตอนนี้ เป็นมาตรการที่ไปแก้ไขปัญหาที่ปลายทาง คือป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพเข้าถึงประชาชนได้ ซึ่งก็พอจะป้องกันความเสียหายได้ในระดับหนึ่ง แต่ในมุมของการเอาผิดหรือตรวจสอบผู้ใช้ซิมเพื่อกระทำผิดกฎหมาย ก็ยังไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะผู้ใช้งานไม่ใช่ผู้ลงทะเบียนยืนยันตัว

ทีมข่าวตรวจสอบไปทางค่ายสัญญาณโทรศัพท์ยี่ห้อหนึ่ง ยืนยันว่า จากการประชุมร่วมกับตำรวจและระเบียบของ กสทช. ผู้ใช้สัญญาณโทรศัพท์มือถือ 1 คน หรือ บัตรประชาชน 1 ใบ สามารถลงเทียนซิมได้ 5 เบอร์ ส่วนคนที่ต้องการลงทะเบียนซิมมากกว่า 5 เบอร์ ต้องไปยืนยันตัวตนที่ศูนย์บริการเท่านั้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง