ส่งหนังสือ มท.-ทส.คุม 15 จว.เผาอ้อยเพิ่ม 30% ส่งผลฝุ่นพุ่ง

สิ่งแวดล้อม
10 ก.พ. 66
15:22
489
Logo Thai PBS
ส่งหนังสือ มท.-ทส.คุม 15 จว.เผาอ้อยเพิ่ม 30% ส่งผลฝุ่นพุ่ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กระทรวงอุตสาหกรรม ส่งหนังสือถึง "มท.-ทส." ขอความร่วมมือ 15 จังหวัดลดฝุ่นพิษจากอ้อยลอบเผาหนักเพิ่มขึ้นเกือบ 30% กังวลปีนี้ตัวเลขพุ่งไม่หยุด สอดคล้องกับจุดความร้อนในไทย 978 จุด

วันนี้ (10 ก.พ.2566) นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รก.เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ทำหนังสือถึง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อขอความร่วมมือในการบูรณาการทำงานร่วมกันในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง พ.ศ.2562-2567

นายภานุวัฒน์ กล่าวว่า สาเหตุที่กระทรวงอุตสาหกรรม ต้องขอความร่วมมือจาก 2 กระทรวง เนื่องจากยังมีการลักลอบเผาอ้อย ข้อมูลวันที่ 1 ธ.ค.2565 ถึงวันที่ 31 ม.ค.นี้ มีการลักลอบเผาอ้อยในอัตราที่สูงถึง 29.81% ของปริมาณอ้อยทั้งหมดนับจากวันที่เปิดหีบจำนวนกว่า 15 ล้านตัน เทียบเท่าได้กับการเผาป่าจำนวน 1.5 ล้านไร่ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ที่หนาแน่นผิดปกติในหลายพื้นที่ทั้งในภูมิภาค และกทม. 

15 จังหวัดลักลอบเผาอ้อยมากที่สุด คือ นครราชสีมา อุดรธานี กาฬสินธุ์ เพชรบูรณ์ ขอนแก่น สุพรรณบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ กาญจนบุรี เลย หนองบัวลำภู ลพบุรี สระแก้ว ชัยภูมิ และมุกดาหาร

โดยอัตราการลักลอบเผาอ้อยที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในวงกว้าง ก่อให้เกิดปัญหาในหลายจังหวัด อีกทั้งยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และอาจกระทบต่อช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว

พบจุดความร้อนในไทยกว่า 978 จุด

ขณะที่ GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) ไทยพบจุดความร้อนวานนี้ (9 ก.พ.) จำนวน 978 จุด ในขณะที่จุดความร้อนของเมียนมาสูงถึง 2,955 จุด กัมพูชา 769 จุด ลาว 668 จุด เวียดนาม 187 จุด และมาเลเซีย 9 จุด

สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทย ส่วนใหญ่สูงสุดเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 432 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 363 จุด พื้นที่เกษตร 74 จุด พื้นที่เขต สปก. 59 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 46 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 4 จุด

โดยจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือ เชียงใหม่ 190 จุด ตาก 120 จุด แม่ฮ่องสอน และลำปาง 106 จุด จากภาพแสดงให้เห็นว่าจุดความร้อนยังคงกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศโดยเฉพาะภาคเหนือที่มีปริมาณจุดความร้อนมากกว่าภาคอื่นๆ คาดว่าน่าจะเกิดจากการเตรียมพื้นที่เพื่อการเกษตร หรือการเข้าไปหาของป่า

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฝุ่นพิษป่วยพุ่ง 163,491 คน "หมอธีระวัฒน์" ชี้เสี่ยงโรคหัวใจวาย

ย้าย 45 คนคืนความเป็นธรรม-สินบน ขีด 2 เดือนจบขู่อย่าวิ่งต่อวีซาเก้าอี้

"ฝุ่นจิ๋วกทม." เกิน 43 พื้นที่ "ชัชชาติ" ส่งจม.ขอปริมณฑลคุมต้นตอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง