สตาร์ตอัปฝรั่งเศส ดัดแปลง "ต้นไม้ฟอกอากาศ" เทียบเท่าปลูกต้นไม้ปกติถึง 30 ต้น

Logo Thai PBS
สตาร์ตอัปฝรั่งเศส ดัดแปลง "ต้นไม้ฟอกอากาศ"  เทียบเท่าปลูกต้นไม้ปกติถึง 30 ต้น
บริษัทสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ในประเทศฝรั่งเศส พัฒนาพืชที่มีการดัดแปลงทางพันธุวิศวกรรม ช่วยฟอกอากาศและกรองอากาศภายในบ้าน เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ปกติถึง 30 ต้น

หลายคนคงเคยได้ยินคำแนะนำที่ว่าควรปลูกต้นไม้ในบ้านกันมาบ้าง เพราะการปลูกต้นไม้ในบ้านจะช่วยกรองอากาศภายในบ้านได้ ล่าสุดสตาร์ตอัปจากปารีส ประเทศฝรั่งเศส เกิดไอเดียพัฒนาต้นไม้ที่เปรียบเสมือนเครื่องกรองอากาศ พืชที่ได้รับการปรับแต่งพันธุวิศวกรรม ให้มีความสามารถในการช่วยกรองอากาศได้เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ปกติถึง 30 ต้นเลยทีเดียว

นีโอ พีวัน (Neo P1) ได้รับการดัดแปลงพันธุวิศวกรรมมาจากต้นพลูด่าง โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ 20 คนของบริษัท ต้นไม้ต้นนี้จะทำหน้าที่ดักจับและรีไซเคิลมลพิษในที่ร่มที่อันตรายที่สุด 4 ชนิด ได้แก่ ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) เบนซีน (Benzene) โทลูอีน (Toluene) และไซลีน (Xylene)

อีกทั้งอากาศภายในบ้านยังมีมลพิษมากกว่าอากาศภายนอกถึง 5 เท่า เพราะมีสารก่อมลพิษในร่มประเภทหนึ่งที่เรียกว่าสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ซึ่งรวมถึงโมเลกุลที่ก่อมะเร็งมากที่สุดในโลกด้วย โดยต้นไม้ดัดแปลงจะทำงานได้เทียบเท่ากับต้นไม้ในบ้านทั่วไปถึง 30 ต้นในแง่ของการฟอกอากาศ นอกจากนี้ยังไม่เก็บสารมลพิษไว้เหมือนที่ต้นไม้ในบ้านทั่วไปทำ แต่จะรีไซเคิลเป็นสารที่มีประโยชน์ จึงเหมาะแก่การปลูกในบ้าน

ต้นไม้ดัดแปลงมาพร้อมกับดินชนิดพิเศษที่มีถ่านชีวภาพ ซึ่งเป็นวัสดุคล้ายถ่านที่ผลิตโดยให้ความร้อนแก่ชีวมวลในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากออกซิเจน โดยถ่านไบโอชาร์ (ฺBiochar) เป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ซึ่งจะถูกเติมลงในดินเดือนละครั้งในรูปของอาหารเสริมที่เรียกว่าพาวเวอร์ ดรอปส์ (Power Drops) และสามารถบำรุงรักษาเพิ่มเติมด้วยการรดน้ำต้นไม้เดือนละ 1 ครั้งในหน้าหนาว และ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ในหน้าร้อน

สตาร์ตอัปผู้ผลิตเปิดเผยว่า ต้นไม้นี้นอกจากจะดีต่อบ้านของผู้ปลูกแล้ว ยังดีต่อโลกอีกด้วย เพราะเป็นสุดยอดต้นไม้ที่มีพลังวิเศษ โดยทีมผู้ผลิตเชื่อว่าธรรมชาติคือเทคโนโลยีที่ทรงพลังที่สุดในโลก จึงมีเป้าหมายให้ธรรมชาติเป็นหัวใจของนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก และในอนาคตเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นเรื่องที่สำคัญ

 

ที่มาข้อมูล: neoplants, newatlas, genengnews
ที่มาภาพ: neoplants
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง