ย้อนรอย "คองคอร์ด" ตำนานเครื่องบินโดยสารที่เร็วที่สุดในโลก

Logo Thai PBS
ย้อนรอย "คองคอร์ด" ตำนานเครื่องบินโดยสารที่เร็วที่สุดในโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"คองคอร์ด" (Concorde) ตำนานเครื่องบินโดยสารที่เร็วที่สุดในโลก จากความฝันของการเดินทางความเร็วเหนือเสียง สู่จุดจบในเปลวเพลิง

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1969 “คองคอร์ด” (Concorde) เครื่องบินโดยสารปีกสามเหลี่ยมและลำตัวเรียวยาว ได้โผบินขึ้นไปบนท้องฟ้าเป็นครั้งแรก หลังจากที่สองบริษัทจากอังกฤษและฝรั่งเศสได้ร่วมมือกันก่อสร้างมาเป็นระยะเวลากว่า 4 ปี ซึ่งเครื่องบินลำนี้มีศักยภาพในการทำความเร็วได้มากถึง 2,179 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือ เกือบ 2 เท่าของความเร็วเสียง ขณะที่เครื่องบินเจ็ทโดยสารทั่วไปในยุคนั้นอย่าง โบอิง 747 ทำความเร็วได้แค่ประมาณ 900 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น

ทันทีที่สาธารณชนและสำนักข่าวต่าง ๆ ได้ยลโฉมเครื่องบินคองคอร์ดในงานปารีสแอร์โชว์ (Paris Airshow) ซึ่งจัดขึ้นหลังจากการทดสอบเที่ยวบินแรกได้ไม่นาน ชื่อเสียงของเครื่องบิน "คองคอร์ด" ลำนี้ก็ได้แพร่สะพัดไปถึงสายการบินที่มีชื่อเสียงอย่างรวดเร็ว จนนำไปสู่ยอดสั่งจองเครื่องบินคองคอร์ดนับร้อยลำ จากหลากหลายสายการบินชื่อดังทั่วโลก ไล่ตั้งแต่ Pan American World Airways ของสหรัฐฯ ไปจนถึง Japan Airlines ของญี่ปุ่น

ราวกับว่าในขณะนั้นการเดินทางด้วยความเร็วเหนือเสียงกำลังจะมาแทนที่เครื่องบินเจ็ทธรรมดาไปเสียแล้ว แต่ทว่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ไม่กี่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็กลับทำให้ความนิยมของ "คองคอร์ด" เสื่อมหายลงไปตามกาลเวลา จนนำไปสู่เที่ยวบินสุดท้ายในปี ค.ศ. 2003 ในที่สุด ทั้งนี้การที่เราจะเข้าใจเรื่องราวของ "คองคอร์ด" นั้น ก็ต้องเข้าใจความเป็นมาของต้นกำเนิดเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงเสียก่อน

ความฝันของการเดินทางความเร็วเหนือเสียง

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลง เทคโนโลยีเครื่องบินเจ็ทก็ได้พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนกระทั่งเครื่องบินของกองทัพสหรัฐฯลำหนึ่ง สามารถทำความเร็วทะลุกำแพงเสียงได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ช่วงปลายปี ค.ศ. 1947 ซึ่งได้ทำให้เครื่องยนต์บินเจ็ทความเร็วเหนือเสียงเริ่มได้รับความนิยมมาแทนที่เครื่องบินใบพัดลูกสูบเดิมจากทางฝั่งกองทัพมากขึ้นเรื่อย ๆ

ส่วนทางด้านภาคพลเรือนนั้นเครื่องบินเจ็ทที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ช่วงทศวรรษที่ 1950 กลับมีเพียงเครื่องบินเจ็ทที่เดินทางต่ำกว่าความเร็วเสียงทั้งสิ้น เนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัยของผู้โดยสาร และหลักวิศวกรรมการออกแบบที่ซับซ้อนของเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง ซึ่งต้องอาศัยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลในการพัฒนาให้เครื่องบินความเร็วเหนือมีขนาดใหญ่พอที่จะสามารถรองรับผู้โดยสารนับร้อยได้

แต่เมื่อผู้คนเริ่มเดินทางไปมาระหว่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ จากผลพวงของยุคโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะการติดต่อทางด้านธุรกิจ ความต้องการระบบขนส่งที่รวดเร็วกว่าเครื่องบินเจ็ทโดยสารธรรมดาจึงเริ่มเติบโตสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างมีนัยสำคัญ โดยทางรัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสในขณะนั้นได้เล็งเห็นโอกาสที่จะเข้ามาพัฒนาเครื่องบินรูปแบบใหม่ ซึ่งมีศักยภาพที่สามารถช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมการบินในประเทศของตนเติบโตไปแข่งขันในตลาดโลกได้ ถึงแม้จะมีความเสี่ยงในการลงทุนอยู่มากก็ตาม

ด้วยเงินทุนสนับสนุนอย่างเต็มสูบจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศ บริษัท บีเอซี (British Aerospace - BAC) จากอังกฤษ และบริษัท Aérospatiale จากฝรั่งเศส จึงได้เริ่มต้นพัฒนาเครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียงในปี ค.ศ. 1962 ก่อนที่จะประสบความสำเร็จในเที่ยวบินแรกในอีก 7 ปีต่อมา ภายใต้ชื่อเครื่องบิน “คองคอร์ด” ที่แปลว่า “ความสามัคคี” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือกันระหว่างสองชาติ

วิกฤตการณ์ครั้งสำคัญของ "คองคอร์ด"

เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าศักยภาพการเดินทางความเร็วเหนือเสียงที่สามารถข้ามมหาสมุทรได้ภายในพริบตา ได้ส่งผลให้ยอดสั่งจองเครื่องบินของเครื่องบินคอร์ดทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 และเมื่อประเทศมหาอำนาจใหม่ อย่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต ได้เห็นความสำเร็จของคองคอร์ดแล้ว ทั้งสองประเทศนี้ก็ได้หันมาเริ่มโครงการพัฒนาเครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียงของตนเช่นกันเพื่อแข่งขันในตลาดเครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียงกับคองคอร์ดในอนาคต

อย่างไรก็ดีเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดฝันก็ได้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1973 กลุ่มชาติพันธมิตรอาหรับที่นำโดยอียิปต์และซีเรีย ได้เปิดฉากบุกโจมตี อิสราเอล ในคืนวันยมคิปปูร์ (Yom Kippur) วันสำคัญทางศาสนาที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชนชาติยิว เพื่อทวงคืนดินแดนที่เคยสูญเสียให้กับอิสราเอลในสงครามครั้งก่อนหน้า และเพื่อก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์สำหรับชาวอาหรับ โดยทางฝั่งสหรัฐฯและพันธมิตรนั้นต่างให้การสนับสนุนอิสราเอลในฐานะผู้ถูกโจมตีด้วยการสนับสนุนทางยุทโธปกรณ์และเงินทุน

การกระทำของชาติตะวันตกนี้ จึงได้ทำให้องค์กรของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอาหรับ (Arab Petroleum Exporting Countries - OAPEC) ตัดสินใจประกาศคว่ำบาตรทางการค้าแก่ประเทศที่สนับสนุนอิสราเอลทั้งหมด ซึ่งได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อผู้คนในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก เนื่องจากประเทศเหล่านี้เป็นผู้บริโภคหลักของน้ำมันจากตะวันออกกลาง

ราคาน้ำมันในสหรัฐฯได้ดีดตัวขึ้นจากบาร์เรลละ 3 ดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็น บาร์เรลละ 12 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี ค.ศ. 1973 หรือเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัวภายในเวลาไม่กี่วันหลังการเกิดการคว่ำบาตรขึ้น มิหนำซ้ำเมื่อสงครามจบลงราคาน้ำมันก็กลับไม่มีทีท่าจะลดกลับลงมาอยู่ในจุดเดิมเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากฝั่งประเทศอาหรับได้ลดกำลังการผลิตลงเพื่อคงราคาซื้อขายให้สูงขึ้น

เครื่องบินคองคอร์ดที่ออกแบบมาให้ใช้ปริมาณเชื้อเพลิงมากกว่า 6.7 ตันต่อชั่วโมงสำหรับการบินด้วยความเร็วเหนือเสียง จึงไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจอีกต่อไปในสายตาของสายการบินยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย และทำให้เกิดการยกเลิกคำสั่งซื้อเครื่องบินคองคอร์ดไปจนหมดสิ้น เหลือเพียงแต่ British Airways จากอังกฤษ และ Air France จากฝรั่งเศส สายการบินของสองประเทศผู้ผลิตเครื่องบิน "คองคอร์ด" แต่เพียงเท่านั้น

โมเดลธุรกิจใหม่ของ 2 สายการบินคองคอร์ด

ภายหลังสงครามความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องบินคองคอร์ดกับรัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสได้ตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เนื่องจากปัจจัยได้ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น จนแลดูเหมือนว่าการยกเลิกโครงการเครื่องบิน "คองคอร์ด" นั้นคือทางออกสุดท้าย แต่ด้วยเกียรติยศและศักดิ์ศรีของ 2 ชาติมหาอำนาจเก่าเป็นเดิมพัน อังกฤษและฝรั่งเศสก็สามารถหาโมเดลทางธุรกิจใหม่เข้ามาช่วยชีวิตคองคอร์ดไว้ได้ทัน

โดยโมเดลธุรกิจใหม่นี้ก็คือการแปรสภาพให้เครื่องบินคองคอร์ดนั้นกลายเป็นเครื่องบินหรูหราสำหรับมหาเศรษฐีและนักธุรกิจชั้นนำของโลก ด้วยการบริการบนเครื่องที่ไม่ได้ต่างอะไรไปจากโรงแรมห้าดาว ทั้งด้านอาหารการกินและความบันเทิงจากพนักงานต้อนรับ

อีกทั้งทางสายการบินยังได้สงวนเส้นทางการบินส่วนใหญ่ไว้ระหว่างมหานครนิวยอร์กกับลอนดอน และปารีส ที่มีความต้องการเดินทางสูงสุดอยู่เสมอ โดยค่าบัตรโดยสารของ "คองคอร์ด" โฉมใหม่นี้ตกอยู่ที่นั่งละประมาณ 12,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ราว 400,000 บาท ซึ่งแพงกว่าที่นั่งชั้นหนึ่งของเครื่องบินโดยสารทั่วไปถึง 2 เท่า

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าบัตรโดยสารของเครื่องบิน คองคอร์ด จะมีราคาแพงหูฉี่ บุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกก็ยังคงเลือกที่จะเดินทางด้วยเครื่องบินลำนี้มาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี ไม่ว่าจะเป็น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เดวิด โบอี หรือ ไมเคิล แจ็กสัน ก็ตาม

เนื่องจาก "คองคอร์ด" นั้นได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศ ความสำเร็จทางด้านวิศวกรรม และกลายเป็นประสบการณ์ที่ทุกคนต้องได้ลิ้มลองสักครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งพอช่วยให้สายการบินทั้งสองพอประคับประคองให้เครื่องบินคองคอร์ดให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ท่ามกลางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ผันผวน แต่ทว่าชื่อเสียงนี้ก็ไม่อาจคงอยู่ได้ไปตลอดกาล

โศกนาฏกรรมกลางเวหา จุดจบของเครื่องบินในตำนาน

ในปี ค.ศ. 2000 เครื่องบิน "คองคอร์ด" ที่มีกำหนดการพาผู้โดยสารจากกรุงปารีสไปยังมหานครนิวยอร์ก ในเที่ยวบิน Air France 4590 ได้เกิดอุบัติเหตุสุดระทึกขวัญขึ้น ขณะที่เครื่องบินกำลังเร่งความเร็วเพื่อออกตัวขึ้นบินบนรันเวย์ โดยเครื่องบิน "คองคอร์ด" ลำนี้ได้วิ่งเข้าไปทับเศษโลหะที่หลุดมาจากเครื่องบินอีกลำหนึ่ง จนตัวล้อเกิดการฉีกขาดและระเบิดขึ้น ซึ่งเศษซากที่เกิดจากการระเบิดนั้นได้กระเด็นเข้าไปยังปีกของเครื่อง ส่งผลให้น้ำมันที่อยู่ในปีกรั่วไหลและติดไฟขึ้นในที่สุด แต่ตัวเครื่องก็กลับทะยานขึ้นฟ้าไปเสียแล้ว

ภายในสองนาทีหลังจากอยู่กลางอากาศ ตัวเครื่องบินก็ได้ตกกลับลงมาเนื่องจากสูญเสียแรงยกบริเวณปีก และปะทะเข้ากับโรงแรมที่อยู่ใกล้เคียง ก่อนที่จะระเบิดออกเป็นเสี่ยง ๆ ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือไปทั้งสิ้น 109 คน กับ ผู้คนที่อยู่ในโรงแรมอีก 4 คนในที่สุด

อุบัติเหตุในครั้งนี้จึงได้นำไปสู่การพักบินของ "คองคอร์ด" ไปนานหลายเดือนเพื่อสอบสวนปัญหาทางวิศวกรรมที่เกิดขึ้น ถึงกระนั้นในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ทางรัฐกำลังตรวจสอบความปลอดภัยของเครื่องบินคอร์ดอยู่ ก็ได้เกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายในสหรัฐฯขึ้น ซึ่งมีการใช้เครื่องบินโดยสารที่ถูกจี้มาในการโจมตีสถานที่สำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะตึกเวิลด์เทรดเซนเตอร์ ที่ก่อให้เกิดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างหนักหน่วง

เครื่องบินคองคอร์ดจึงได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายในปี ค.ศ. 2001 เข้าไปเต็ม ๆ จากมาตรการความปลอดภัยที่สูงขึ้น ซึ่งทางสายการบินต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมด้วยตนเอง ทั้ง ๆ ที่เครื่องบินคองคอร์ดมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงที่สูงอยู่แล้วก็ตาม อีกทั้งในอีกไม่กี่เดือนต่อมา กองทัพสหรัฐฯก็ได้ตัดสินใจบุกโจมตีอัฟกานิสถาน ซึ่งได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง จนราคาน้ำมันโลกดีดตัวสูงขึ้นอีกครั้ง

ด้วยภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ในสายการบิน British Airways และ Air France ตัดสินใจยกเลิกการให้บริการฝูงบินคองคอร์ดทั้งหมดในปี ค.ศ. 2003 นับเป็นอันสิ้นสุดตำนานเครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียงที่อยู่คู่ท้องฟ้ามานานนับ 3 ทศวรรษในที่สุด

ที่มาข้อมูล: Britannica , The Atlantic
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง