ฝ่ายค้านอิรักยื่นคัดค้านกฎหมายสุรา ชี้จำกัดเสรีภาพ-ขัดรัฐธรรมนูญ

ต่างประเทศ
6 มี.ค. 66
15:16
331
Logo Thai PBS
ฝ่ายค้านอิรักยื่นคัดค้านกฎหมายสุรา ชี้จำกัดเสรีภาพ-ขัดรัฐธรรมนูญ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักการเมืองคริสเตียนในอิรักยื่นอุทธรณ์ต่อศาล เพื่อคัดค้านกฎหมายห้ามจำหน่าย นำเข้า หรือผลิตสุรา ชี้ไม่เป็นประชาธิปไตย ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หลังฝ่ายรัฐบาลย้ำ ห้ามมีกฎหมายใดแย้งบทบัญญัติศาสนาอิสลาม

วันนี้ (5 มี.ค.2566) สำนักข่าว BBC รายงานว่า นักการเมืองที่นับถือศาสนาคริสต์ในรัฐสภาอิรัก ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์เพื่อให้พิจารณากฎหมายห้ามจำหน่าย นำเข้า หรือผลิตสุรา อีกครั้ง หลังจากกฎหมายฉบับนี้ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

แม้การบริโภคสุราในที่สาธารณะจะเป็นสิ่งต้องห้ามในอิรัก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม แต่ก็ยังสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายสุราหรือบาร์ที่มีใบอนุญาต

แต่เมื่อกฎหมายดังกล่าวถูกประกาศใช้ จะทำให้ร้านที่จำหน่าย นำเข้าหรือผลิตสุรา มีความผิด ต้องโทษปรับเป็นเงินสูงถึง 25 ล้านดีนาร์อิรัก (ราว 590,000 บาท)

กลุ่มนักการเมืองที่นับถือศาสนาคริสต์ให้เหตุผลในการอุทธรณ์ต่อศาลว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ละเลยสิทธิของชนกลุ่มน้อยและจำกัดเสรีภาพ นอกจากนี้ยังขัดแย้งกับกฤษฎีกาของรัฐบาล ซึ่งประกาศใช้ไม่ถึง 1 สัปดาห์ก่อนที่ราชกิจจานุเบกษาจะเผยแพร่ในวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่จะกำหนดให้เก็บภาษี 200% สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำเข้าทั้งหมดเป็นเวลา 4 ปีนับจากการประกาศ

ซาร์มัด อับบาส นักธุรกิจในกรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก บอกกับสำนักข่าว AFP ว่า คำสั่งห้ามนี้จะทำให้ธุรกิจสุราในตลาดมืดสูงขึ้น

คำสอนของชาวมุสลิมห้ามบริโภคสุรา แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเสรีภาพส่วนบุคคลที่รัฐห้ามพลเมืองไม่ให้ปฏิบัติไม่ได้

ย้อนที่มากฎหมายสุราในอิรัก

ย้อนไปเมื่อ ต.ค.2559 รัฐสภาอิรักมีมติห้ามจำหน่าย นำเข้า และผลิตสุรา ด้วยข้อสนับสนุนที่ว่า การมีอยู่ของสุรานั้นขัดต่อหลักศาสนาอิสลามและขัดต่อรัฐธรรมนูญ แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่ศาสนาอิสลาม และผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงแรม บาร์ในอิรักก็ตาม

ร่างกฎหมายนี้เสนอโดย มาห์มูด อัล-ฮัสซัน ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้พิพากษาและสมาชิกสภานิติบัญญัติของกลุ่มพันธมิตรกฎหมายแห่งรัฐของอิรัก และ อัมมาร์ โทมา อีก 1 ใน ส.ส.ที่สนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้บอกว่า ร่างกฎหมายนี้มีความชอบธรรม เป็นไปตามมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญอิรักปี 2548

ห้ามมีกฎหมายใดที่ขัดแย้งกับบทบัญญัติที่บัญญัติไว้ของศาสนาอิสลาม

แม้จะผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาตั้งแต่ปี 2559 แต่กว่าที่กฎหมายฉบับนี้จะถูกประกาศใช้ ก็อีก 7 ปีต่อมา เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 นั่นเอง

ที่มา : BBC

อ่านข่าวต่างประเทศเพิ่ม : 

ครบ 9 ปีหายปริศนา MH 370 ครอบครัวผู้สูญหายเรียกร้องค้นหาอีกครั้ง

คนร่วมฉลองกว่าครึ่งแสน ปิดฉากอย่างอลังการ "Sydney WorldPride 2023"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง