เช็กลิสต์! แผนสกัดฝุ่น PM 2.5 ใครเตะถ่วง

สิ่งแวดล้อม
10 มี.ค. 66
13:53
554
Logo Thai PBS
เช็กลิสต์! แผนสกัดฝุ่น PM 2.5 ใครเตะถ่วง
ถ้าผมสั่งได้คงจะไปสั่ง แต่ในฐานะ รมว.ทส. มีอำนาจหน้าที่ในจุดหนึ่ง ได้พูดคุยใน ครม.แล้ว สัปดาห์หน้าจะหารือกันประเด็นนี้ ทุกหน่วยงานต้องเข้ามาเข้มงวดในมาตรการมากขึ้น ไม่ใช่นั่งรอให้เกิดเหตุการณ์ก่อน ต้องขอให้ ครม.ทุกคนมีส่วนร่วม

หากถอดใจความสำคัญของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) หลังถูกตั้งคำถามถึงความล่าช้าในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ปกคลุมประเทศไทยมานานเกือบหนึ่งเดือนเต็ม

อาจส่งสัญญาณว่าฝุ่นพิษในช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูฝุ่น มีโอกาสทันเห็นการยกระดับจาก “หัวโต๊ะ” เพื่อให้หยิบแผนและมาตรการที่เคยถูกวางไว้ตั้งแต่คราวประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2566 นำมาสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2566 พบว่ามีการเห็นชอบแผนเฉพาะกิจ 7 มาตรการ แก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองปี 2566

มติ ครม.ดังกล่าว ระบุว่า แผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองปี 2566 ถอดบทเรียนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองปี 2565 โดยปรับปรุงและยกระดับความเข้มงวดมาตรการต่าง ๆ เป็น 7 แนวทาง ภายใต้กรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง โดยเฉพาะในช่วงเกิดสถานการณ์

กางแผน 7 ข้อสกัดฝุ่นปี’66 ทำอะไรบ้าง

ตามแผนข้อแรก ระบุว่า เร่งรัดประชาสัมพันธ์เชิงรุกและแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันทุกพื้นที่ สร้างความเชื่อมั่นและลดความสับสนของประชาชน และสื่อสารผ่านสื่อใหม่มากขึ้น เช่น TikTok เพื่อเข้าถึงกลุ่มเยาวชน

ข้อที่ 2 ยกระดับมาตรการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น เพิ่มความเข้มงวดควบคุมฝุ่นละอองในช่วงวิกฤตในพื้นที่ป่า เตรียมความพร้อมบุคลากร อุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา ควบคุมฝุ่นละอองจากยานพาหนะและภาคอุตสาหกรรม นำน้ำมันกำมะถันต่ำมาจำหน่ายในช่วงวิกฤต เป็นต้น

ภาพ : อุทยานแห่งชาติแม่ปิง

ภาพ : อุทยานแห่งชาติแม่ปิง

ภาพ : อุทยานแห่งชาติแม่ปิง

ข้อที่ 3 ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร (ชิงเก็บ ลดเผาและระบบบริการการเผาในที่โล่ง) เช่น จัดเก็บเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร และส่งเสริมให้เกษตรกรนำตอซัง ฟางข้าวและใบอ้อยไปใช้ประโยชน์หรือเพิ่มมูลค่า เพื่อลดการเผา

ข้อที่ 4 กำกับดูแลการดำเนินการในทุกระดับ ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด รวมถึงจัดให้มีแพลตฟอร์มหรือช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล หรือแจ้งเหตุด้านมลพิษ และติดตามการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้

ข้อที่ 5 ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ พัฒนาระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟ จัดทำฐานข้อมูลสำหรับการป้องกันและควบคุมการเกิดไฟ

ภาพ : อุทยานแห่งชาติแม่ปิง

ภาพ : อุทยานแห่งชาติแม่ปิง

ภาพ : อุทยานแห่งชาติแม่ปิง

ข้อที่ 6 ผลักดันกลไกระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยจัดทำ Roadmap และกำหนดเป้าหมายลดจำนวนจุดความร้อน/พื้นที่เผาไหม้ในภูมิภาคอาเซียน

และข้อที่ 7 ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผน และดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง

กางมติทั้ง 7 ข้อ หากทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหน่วยงานในระดับท้องถิ่น หยิบไปบังคับใช้ คนไทยคงไม่จมฝุ่นพิษต่อเนื่องมานานนับเดือน ไม่ว่าจะเป็นทางภาคเหนือ กรุงเทพมหานคร รวมถึงภาคกลางและภาคตะวันตก ที่ต้องแบกรับผลกระทบแบบกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

ตรงกับคำยืนยันของ “วราวุธ” ที่บอกว่า ทส. ไม่ได้นิ่งเฉยกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 เพราะมีการจัดทำแผนและแนวทางไว้ตั้งแต่ปลายปี 2565 เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยปฎิบัติดำเนินการตามมาตรการ

“ปัญหาสิ่งแวดล้อมใคร ๆ ก็นึกถึง ทส. เพราะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่ถามว่าต้นกำเนิดฝุ่น ไฟป่า มาจาก ทส.หรือไม่ ก็ไม่ใช่ ดังนั้นทุกคนต้องไปทำหน้าที่ของตัวเอง ได้ยินคำบ่นมาหลายปีแล้ว แต่ปีนี้ขอพูดเพราะมันหนักจริง ๆ” วราวุธ บอกทิ้งท้าย

ข้อมูลล่าสุดจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พบจุดความร้อน (Hotspot) สะสมทั้งประเทศ ตั่งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 - 10 มี.ค.2566 รวม 77,992 จุด แบ่งเป็นเขตพื้นที่อนุรักษ์ 28,219 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ 20,685 จุด และนอกพื้นที่ป่า 29,088 จุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟังชัด! "วราวุธ" โต้ใครนิ่งเฉยแก้ฝุ่น PM 2.5

เช็ก 88 อุทยานฯ-เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ประกาศปิด-คุมพื้นที่ไฟป่า

หมอโพสต์ "นกตะขาบดง" โดนฝุ่นจิ๋วร่วง-พบปอดอักเสบรุนแรง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง