โครงสร้างอาคารเรียน จากวัสดุชีวภาพฟางและสาหร่าย ลดการปล่อยคาร์บอน

Logo Thai PBS
โครงสร้างอาคารเรียน จากวัสดุชีวภาพฟางและสาหร่าย ลดการปล่อยคาร์บอน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
บริษัทในเดนมาร์กใช้วัสดุชีวภาพจากฟางและสาหร่าย มาทำโครงสร้างอาคารเรียน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการเผาฟาง และลดการเน่าเสียของสาหร่ายบนชายหาด

ในปัจจุบันโลกกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วิกฤตทางภูมิอากาศ สังเกตได้จากดัชนีค่าฝุ่นละอองในอากาศพุ่งสูงขึ้นทั่วทุกมุมโลก ประเทศไทยเองก็ประสบปัญหากับสภาวะฝุ่น PM 2.5 ที่ปกคลุมในหลายจังหวัด จนเกิดอาการหายใจไม่สะดวก ดังนั้นอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง การเกษตร และอื่น ๆ ต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น บริษัทสถาปัตยกรรมจากเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก มีการปรับวิธีการก่อสร้างอาคาร โดยการสร้างวัสดุชีวภาพจากฟางและสาหร่าย เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

ฟางเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย แต่มักถูกเผาไหม้จนทำให้เกิดมลพิษ และสาหร่ายเป็นพืชน้ำที่มักถูกปล่อยให้เน่าเสียอยู่บนชายฝั่งทะเลโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ บริษัทสถาปัตยกรรมในเดนมาร์กจึงได้นำเอาวัสดุ 2 ชนิดนี้มาใช้ในงานก่อสร้างให้เกิดประโยชน์ โดยสร้างเป็นฉนวน และระบบระบายอากาศของอาคาร ซึ่งได้รับการออกแบบโดยเฉพาะเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เป็นผลมาจากการก่อสร้างอาคารในรูปแบบเก่า ๆ

อาคารที่สร้างจากวัสดุชีวภาพหลังนี้มีพื้นที่ 2,700 ตารางฟุต เป็นส่วนต่อเติมของโรงเรียนซึ่งสร้างเป็นห้องเรียน และห้องทดลองวิทยาศาสตร์ อาคารนี้เป็นการตีความสมัยใหม่ของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่ทำจากวัสดุที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวัสดุชีวภาพสามารถช่วยให้อุตสาหกรรมการก่อสร้างบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมได้โดยไม่สูญเสียความสวยงาม

โครงสร้างอาคารมีการออกแบบระบบแผงฟางอัด หลังคาไม้พร้อมแผงโซลาร์เซลล์ เฟอร์นิเจอร์บิวท์อินไม้อัดที่ไม่ผ่านการแปลงสภาพ และระบบระบายอากาศที่ทำจากหญ้าปลาไหล ซึ่งเป็นสาหร่ายที่พบได้ทั่วไปตามชายฝั่งทะเลในซีกโลกเหนือ ซึ่งวัสดุต่าง ๆ ที่นำมาเป็นส่วนประกอบเหล่านี้ปราศจากสารเคมีที่เป็นพิษ ไม่ใช่วัสดุที่ไวไฟ และเมื่อประกอบแล้วทำให้ได้ฉนวนที่มีประสิทธิภาพ และช่วยปรับสภาพอากาศภายในอาคารได้อย่างดีเยี่ยม

การต่อเติมโรงเรียนในชนบทในเดนมาร์กครั้งนี้ สามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าที่ปล่อยออกมา ทำให้กลายเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบสำหรับความเป็นกลางทางคาร์บอนในอนาคต โดยบริษัทได้ให้ความสำคัญกับการเลือกวัสดุที่ดูดซับและกักเก็บคาร์บอน อีกทั้งการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ซึ่งเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับปัจจุบัน เนื่องจากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ที่มาจากการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่นั้นต่ำกว่าการใช้วัสดุที่เป็นของใหม่ ด้วยการใช้หลักการเหล่านี้ พวกเขาประสบความสำเร็จในการลดรอยเท้าของโครงสร้างลงเหลือ 6 กก. ของ คาร์บอนต่อตารางเมตรต่อปี โดยคาดว่าจะมีอายุการใช้งานได้นานถึง 50 ปี

ที่มาของภาพ:ที่มาข้อมูล: fastcompany, stirworld, dezeen, globaldesignnews
ที่มาภาพ: henninglarsen
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง