สมการ "ปลูกป่า" ≠ การจัดการพื้นที่สีเขียว คุณค่าขึ้นอยู่กับคุณประโยชน์


บทความพิเศษ

21 มี.ค. 66

Thai PBS Digital Media

Logo Thai PBS
สมการ "ปลูกป่า" ≠ การจัดการพื้นที่สีเขียว คุณค่าขึ้นอยู่กับคุณประโยชน์

การปลูกต้นไม้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ คุณปลูกต้นไม้ ผมปลูกต้นไม้ ก็ได้พื้นที่สีเขียวเหมือนกัน แต่ผมปลูกแบบวนศาสตร์ ผมจะได้ต้นไม้ที่มีประสิทธิภาพในการกักเก็บคาร์บอนมากกว่า

“ป่า” ฟังดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนเมือง แต่จริง ๆ แล้ว “ใกล้ตัว” กว่าที่คิด วันนี้ “ไทยพีบีเอส” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.ดร. นันทชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งจะมาให้คำแนะนำ ข้อคิด ในมุมนักวนศาสตร์หรือที่เรียกกันว่า “วนกร” ​ศาสตร์การจัดการป่าไม้ ที่ใครหลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจ และ นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ ถึงนโยบายส่งเสริมการจัดการป่าไม้ และการสร้างแรงจูงใจให้คนหันมาปลูกป่า เนื่องใน “วันป่าไม้โลก” 21 มีนาคม (International Day of Forests)

 

จะเกิดอะไรขึ้นกับโลกนี้ หากไม่มี “ป่า”

ผศ.ดร. นันทชัย กล่าวว่า ปัจจุบัน “ป่า” เหลือเป็นพื้นที่ใหญ่ ๆ ของโลกอยู่ 3 แห่ง คือ ป่าเขตร้อนในแอมะซอน คองโกในแอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  

ข้อมูลจากธนาคารโลก พบว่า ประเทศที่ไม่มีป่า ได้แก่ ประเทศกรีนแลนด์ โมนาโก โอมาน ซานมารีโน และกาตาร์ คนในพื้นที่ทุกข์ทรมานจากสภาพอุณหภูมิกลางวันและกลางคืนต่างกันอย่างชัดเจน

มีงานวิจัยการปลูกต้นไม้ช่วยลดอุณหภูมิบนพื้นผิวโลกได้แค่ไหน โดยพบว่า ตัวเลขอยู่ที่ 0-12 องศาเซลเซียสสูงสุด แต่ค่าเฉลี่ยโดยทั่วไปคือ 4-6 องศาเซลเซียส ดังนั้น หากต้องการลดคาร์บอนในโลกนี้ ต้องปลูกต้นไม้ถึง 1 ล้านล้านต้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็อยู่ในป่า และอาจจะไม่จำเป็นต้องปลูกมากขนาดนี้ก็ได้ หากใช้หลักของวนศาสตร์เข้ามาช่วย

นอกจากนี้ ภาวการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความแปรปรวนสูง ภัยธรรมชาติมีแนวโน้มเกิดบ่อยขึ้น รุนแรงขึ้น และสิ่งมีชีวิตจำนวนมากขาดแคลนถิ่นอาศัย ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านอาหารโดยตรง

พื้นที่ป่าไม้ในโลก

ป่ากับคน ดูเป็นเรื่องไกลตัว จริง ๆ แล้วมันไกลไหม?

ผศ.ดร. นันทชัย กล่าวว่า การปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (fossil fuel) มีราว 37,858 ล้านตัน ประเทศไทยปลดปล่อย ราว 270 ล้านตัน/ปี ส่วนจีนปลดปล่อยมากที่สุดในโลก 12,466 ล้านตัน รองลงมาเป็นสหรัฐอเมริกา ราว 4,752 ล้านตัน/ปี  

ปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

จะเห็นได้ว่า การปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก ซึ่งมีตัวการใหญ่คือ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยพบว่า ปี 2566 ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่ในชั้นบรรยากาศเป็น “จุดพีคที่สุด”  ในรอบ 2 ล้านปี ซึ่งคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็น 80% ของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมา ทั่วทั้งโลกจึงหันมามุ่งจัดการกับคาร์บอนไดออกไซด์โดยส่วนหนึ่งก็คือ “การจัดการต้นไม้” นั่นเอง

ต้นไม้ 1 ต้นกักเก็บคาร์บอนได้ประมาณ 9-15 กก./ปี ขณะที่ต้นไม้ในป่าเขตร้อนกักเก็บคาร์บอนได้ถึง 23 กก./ปี ป่าไม้มีความสำคัญต่อการกักเก็บคาร์บอน มีการดูดซับคาร์บอนได้ประมาณ 2,400 ล้านตัน/ปี ป่าไม้กักเก็บคาร์บอนคิดเป็น 45% ของคาร์บอนที่พบในระบบนิเวศบนบก ซึ่งสิ่งที่ทั่วโลกกำลังทำมี 2 ส่วน คือ

1.การฟื้นฟูป่า หมายถึง พื้นที่ที่เคยเป็นป่ามาก่อนแล้วถูกทำให้หายไปและไปฟื้นฟูป่าให้กลับมาเหมือนเดิม

2.การปลูกป่าในพื้นที่ที่ไม่เคยมีป่ามาก่อน อย่างเช่นในประเทศ “ซาอุดีอาระเบีย” ที่มีนโยบาย ปลูกป่าในพื้นที่ “ทะเลทราย” เพื่อลดอุณหภูมิพื้นผิวดินในเขตเมืองและนอกเขตเมือง
ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมากหากทำสำเร็จ เพราะจะเป็นการเพิ่มพื้นที่ในการจัดเก็บคาร์บอนที่มากขึ้น  

 ผศ.ดร. นันทชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พื้นที่สีเขียวเหมือนกัน แต่คุณภาพไม่เท่ากัน

“การปลูกต้นไม้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งที่รัฐไม่เคยคำนึงถึง มีแต่การบอกว่า ต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เยอะ ๆ แต่คำถามคือ จะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ คุณปลูกต้นไม้ ผมปลูกต้นไม้ ก็ได้พื้นที่สีเขียวเหมือนกัน แต่ผมปลูกแบบวนศาสตร์ ผมจะได้ต้นไม้ที่มีประสิทธิภาพในการกักเก็บคาร์บอนมากกว่า” ผศ.ดร. นันทชัย อธิบาย

แล้วจะทำอย่างไรให้ต้นไม้ที่เราปลูก มีประสิทธิภาพในการกักเก็บคาร์บอนเหล่านี้ ? ทีมข่าวตั้งคำถาม โดย ผศ.ดร. นันทชัย ตอบว่า ข้อแรก การส่งเสริมให้การปลูกป่าแล้วเกิดความหลากหลายทางชนิดพันธุ์ มีความซับซ้อนของโครงสร้างหมู่ไม้ มีไม้ที่เป็นเรือนยอดชั้นบน ชั้นกลาง และชั้นล่าง จะทำให้สะสมคาร์บอนได้มีประสิทธิภาพได้สูงกว่า

ความหลากหลายทางชนิดและโครงสร้างของหมู่ไม้

และการปลูกป่าที่มีอายุมาก (old-growth forest) หลายคน “เคยเชื่อ” กันว่า ป่าอายุมากมีการสะสมคาร์บอนที่เป็นศูนย์ เพราะไม่โตแล้ว ทำให้เกิดความคิดว่ามีป่าอายุน้อยดีกว่า แต่ความจริงแล้วจากงานวิจัยพบว่า ขนาด อายุ น้ำหนัก ยิ่งมากจะยิ่งสะสมคาร์บอนได้มีประสิทธิภาพ ถึงแม้เป็นป่าที่มีอายุหลายร้อยปี ก็ยังคงมีอัตราการผลิตคาร์บอนและกักเก็บคาร์บอนได้อย่างต่อเนื่อง

ผศ.ดร. นันทชัย ยังได้ยกตัวอย่างว่า ป่าทุกวันนี้ที่ผ่านการทำไม้มา ตัดจนกระทั่งต้นเต็ง ต้นรัง ไม่เหลือแม่ไม้ ไม่สามารถโปรยเมล็ดทดแทนไปได้ วันนี้ถูกยึดครองโดยต้นติ้ว ต้นแต้ว ต้นตะแบกเลือด ความหนาแน่นของเนื้อไม้น้อย ความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนก็น้อย แม้แต่สัตว์ป่ายังไม่กิน คำถามคือ ตรงนี้เป็นพื้นที่สีเขียว พื้นที่กักเก็บคาร์บอนไม่มีประสิทธิภาพ แล้วจะทำอย่างไร ?

“วันนี้ สังคมไทยติดภาพว่าพื้นที่สีเขียวมีคุณค่าเท่ากัน แล้วมองมุมของป่าไม้เป็นนักอนุรักษ์อย่างเดียว ซึ่งไม่ปฏิเสธว่าจำเป็นต้องอนุรักษ์ แต่ในมุมของคนที่ทำงานในด้านการป่าไม้ เราควรลำดับความสำคัญของพื้นที่ พื้นที่ที่ผ่านการทำไม้มาแล้ว และกลับไปเป็นป่าสัก ป่าประดู่ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณแบบเดิมไม่ได้แล้ว และกลายเป็นป่าที่มีสีเขียว แต่กักเก็บคาร์บอนไม่มีประสิทธิภาพ เนื้อไม้ใช้ไม่ได้ สัตว์ป่าไม่ได้พืชอาหาร ผมขอถามกลับไปที่สังคมไทยว่า พื้นที่แบบนี้ต้องจัดการไหมครับ ?” ผู้เชี่ยวชาญด้านวนศาสตร์ ตั้งคำถาม

การจัดการพื้นที่ป่าไม้ตามวัตถุประสงค์ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ธรรมชาติดูแลตัวเองได้! สังคมไทยมอง “ตัดต้นไม้” = ไม่อนุรักษ์

ผศ.ดร. นันทชัย กล่าวว่า “หลายคนบอกว่า ธรรมชาติดูแลเองได้ อยู่กันเองได้ โดยที่มนุษย์ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน ผมตอบว่า ใช่ครับ แต่มันใช้เวลานานมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธรรมชาติที่มีมนุษย์เข้าไปรบกวนมันแล้ว การใช้หลักวนศาสตร์จะช่วยร่นระยะเวลา จากการปล่อยตามเวรตามกรรมให้เห็นผลในรุ่นของ 1 คนที่จะเกิดขึ้น”

ผศ.ดร. นันทชัย อธิบายต่อว่า “การรบกวนธรรมชาติ” นั้น เป็นได้ทั้งในแง่บวก แง่ลบ และเป็นศูนย์ แต่วนศาสตร์เลือกการรบกวนธรรมชาติที่เป็นบวกเท่านั้น มาใช้ในการจัดการ เช่น การจัดการให้เป็นหมู่ไม้หลายชั้นอายุ เพื่อการกักเก็บคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพ แต่สัตว์ป่าขนาดใหญ่อย่างเช่น วัวแดง ช้างป่า กระทิง จำเป็นต้องหากินในพื้นที่เปิดโล่ง ที่มีหญ้า ไม้ล้มลุกใบกว้าง

เพราะฉะนั้น การจัดการป่าต้องผสมผสานอรรถประโยชน์ เป้าหมายที่ต้องการ อย่างกรณีในห้วยขาแข้ง เป็นพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่าขนาดใหญ่ การจะทำให้เป็นป่าที่มีอายุมากก็เป็นไปไม่ได้ ต้องทำให้มีพื้นที่เปิดโล่ง เป็นป่ากำลังทดแทน และสามารถทำให้เป็นป่าอายุมากได้ โดยเหล่านี้เกิดจากการออกแบบโดยนักจัดการป่าไม้

“สังคมไทยคิดว่าการเข้าไปจัดการหมู่ไม้โดยการตัดต้นไม้ที่ไม่มีประโยชน์ในการกักเก็บคาร์บอน สัตว์ป่าไม่ได้พืชอาหาร พอไปเอาไม้เหล่านี้ออกบางส่วนเพราะกระตุ้นให้ไม้ที่มีประโยชน์ได้เกิดขึ้น พอไปตัดต้นไม้กลายเป็นจำเลยสังคม ไม่อนุรักษ์ ตรงนี้นอกจากทำลายอาชีพทางด้านวนศาสตร์แล้ว ยังทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในเรื่องจัดการป่าเพื่อให้เกิดอรรถประโยชน์ในแง่กักเก็บคาร์บอน อาหารและยา พืชอาหารสัตว์ป่าด้วย” นักวนกร ให้ความเห็น

 ผศ.ดร. นันทชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พบ คน กทม.มีอัตราพื้นที่สีเขียวเฉลี่ยต่อคนเพียง 7 ตร.ม.

หลักเกณฑ์สำหรับเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี “องค์การอนามัยโลก” (World Health Organization: WHO) ระบุว่า ประชาชน 1 คน ควรมีพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 9-15 ตารางเมตร แต่สำหรับ กทม.พื้นที่สีเขียวในรูปแบบสวนสาธารณะหรือสวนหย่อม แม้ว่าจะมีตัวเลขมากถึง 8,796 แห่ง หรือพื้นที่ราว 25,000 ไร่ แต่เป็นเพียงสัดส่วน 2.60% ของพื้นที่ กทม.ทั้งหมด

เมื่อนำมาเฉลี่ยต่อจำนวนประชากรในทะเบียนราษฎร์ราว 6 ล้านคน พบว่า พื้นที่สีเขียวเพียง 7 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน

ดังนั้น เป้าหมาย GREEN BANGKOK 2030 หรือ ในปี 2573 จะต้องบรรลุ 3 เป้าหมาย ดังนี้
1. เพิ่มอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรให้ได้ 10 ตารางเมตร/คน
2. มีพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ในระยะเดิน 400 เมตร หรือ 5 นาที ไม่น้อยกว่า 50% ของพื้นที่กรุงเทพมหานคร
3. พื้นที่ร่มไม้ (Urban Tree Canopy) ต่อพื้นที่เมืองเพิ่มขึ้นเป็น 30% ของพื้นที่

สวนลุมพินี กรุงเทพฯ

การสร้างพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง เป็นไปได้แค่ไหน ?

ในเขตเมืองมีพื้นที่จำนวนจำกัด แต่การปลูกป่าต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก จะเป็นไปได้แค่ไหน ? เรื่องนี้ ผศ.ดร. นันทชัย อธิบายว่า ‘พื้นที่สีเขียว (Green Space)’ คือ พื้นที่ใดๆ ก็ตามที่มีพืชพรรณขึ้นปกคลุม ทั้งในเขตเมืองและนอกเมืองที่ประชาชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ ทำหน้าที่เป็น green way หรือ green belt ให้กับสัตว์ตามธรรมชาติในเขตเมือง เช่น กระรอก กระแต นกบางชนิด

เช่น การสร้างพื้นที่สีเขียวเป็นหย่อมในเมือง โดยมีเส้นทางสีเขียวเชื่อมต่อกันจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง อาจจะทำเป็นเส้นทางจักรยานก็ได้ สัตว์ก็จะใช้พื้นที่สีเขียวเหล่านี้เป็นเส้นทางไปสู่ที่อื่น ๆ ได้ ทำให้เมืองมีชีวิต และมีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ พื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ยังเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความอยู่ดีมีสุข (Well-being) ของคนเมือง ซึ่งเมืองที่ดีควรมีพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพ ในปริมาณที่เหมาะสม และสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ยิ่งเมืองมีความหนาแน่นมากเท่าไร พื้นที่สีเขียวในเมืองยิ่งมีค่ามากขึ้นต่อสุขภาวะของคนเมือง โดยคุณค่าในที่นี้ หมายรวมคุณค่าที่มีต่อร่างกายและจิตใจผู้ที่ได้สัมผัสโดยตรง และคุณค่าที่มีต่อสิ่งแวดล้อมเมืองที่ให้อานิสงส์ในวงกว้าง

พื้นที่สีเขียว “อนุรักษ์ - ใช้ประโยชน์” ต้องสมดุลกัน

นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้มีนโยบายจัดการป่าไม้ในรูปแบบการจัดตั้งป่าชุมชน และการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน ระหว่างการอนุรักษ์ กับการใช้ประโยชน์ให้มีความสมดุลกัน เช่น การเก็บหาของป่า การใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ การทำปศุสัตว์ หรือการใช้น้ำในพื้นที่ เป้าหมายคือ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประเทศไทยต้องมีพื้นที่สีเขียว ไม่น้อยกว่า 55% ของพื้นที่ประเทศ โดยแบ่งเป็นป่าธรรมชาติ 35% ป่าเศรษฐกิจ 15% พื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท 5%

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดให้มีพื้นที่สีเขียว 55% ของประเทศ

ทั้งนี้ จะบริหารจัดการแบบ BCG คือ (Bio-Circular-Green) หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว SDGs คือ เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ในเป้าหมายที่ 15 การปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

ทำไมคนไทยต้องปลูกป่า ปลูกแล้วได้อะไร ?

นายสุรชัย กล่าวว่า กรมป่าไม้ ส่งเสริมให้ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ของตนเอง โดยสามารถเข้าไปรับกล้าไม้ฟรีที่สถาบันเพาะกล้าไม้ของกรมป่าไม้ได้ มีการแจกพันธุ์ไม้ กล้าไม้ที่เหมาะสมกับท้องถิ่นนั้น ๆ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาปลูกสร้างสวนป่าในพื้นที่ของกรมป่าไม้ได้

ในเรื่องภาษีที่ดิน พื้นที่กรรมสิทธิ์ที่ปลูกไม้เศรษฐกิจ จากเดิมที่กำหนดไว้ว่า พืชกลุ่มให้เนื้อไม้ต้องปลูกอย่างน้อยไร่ละ 100 ต้น ปรับเป็นไร่ละ 30 ต้น และลดภาษีส่งออก โดยภาษีในการส่งออกไม้แปรรูปเหลือ 0% ส่วนภาษีส่งออกไม้ท่อนเหลือ 10%

นอกจากนี้ ยังได้แก้ระเบียบพระราชบัญญัติป่าไม้ มาตรา 7 ไม้ที่เกิดขึ้นในที่ดินกรรมสิทธิ์ ประชาชนสามารถตัด แปรรูป หรือนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องขอเจ้าหน้าที่ เป็นการส่งเสริมทำให้ประชาชนได้มีรายได้ด้วย ส่วนพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ ให้ประชาชนสามารถเข้าไปตัดไม้ที่ตัวเองปลูกได้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจส่งเสริมรายได้ให้กับประชาชน

นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้

คาร์บอนเครดิต กำไร 3 ต่อ ปลูกป่าลดภาษีที่ดิน ช่วยโลก ได้เงิน

นายสุรชัย กล่าวว่า ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้สินค้าที่ส่งออกไปขายในตลาดโลกอาจจะถูกเก็บภาษีเพิ่มมากขึ้นหรือถูกกีดกันทางการค้ามากขึ้น หากผลิตภัณฑ์มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มาก ดังนั้น องค์กรธุรกิจจึงต้องซื้อคาร์บอนเครดิตไปชดเชยกับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา

สำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ธุรกิจใหม่ ที่จะสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับชุมชนที่ดูแลรักษาป่า ที่เพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดซับก๊าซเรือนกระจก นั้น จะต้องขึ้นทะเบียน T-VER โดยมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 100 ไร่ ประชาชนสามารถมารับกล้าไม้ในการปลูกจากกรมป่าไม้ได้ด้วย ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำประชาชนในการปลูกให้เหมาะสม

แนวคิดการคำนวณคาร์บอนเครดิต

ส่วนการปลูกมีทั้งปลูกป่าแบบยั่งยืน การทำสวนไม้เศรษฐกิจโตเร็ว โดยจะมีการประเมินวัดคาร์บอนเครดิต ในปีแรกเริ่ม ปีที่ 3 ปีที่ 6 และปีที่ 10 เมื่อครบ 10 ปี จากนั้นนำคาร์บอนเครดิตที่ได้ไปขายในตลาด ซึ่งจะมีองค์กรธุรกิจเข้ามาซื้อ และสามารถกักเก็บคาร์บอนเพื่อไปขายต่อในอีก 10 ปีข้างหน้าก็ได้

“การปลูกป่านอกจากการช่วยโลกแล้ว ยังได้เงินที่จะได้จากการขายคาร์บอนเครดิต และได้เนื้อไม้นำไปใช้ประโยชน์ได้ ตรงนี้ก็เป็นการออมทรัพย์สินของเราด้วย ซึ่งสามารถนำไปตีราคาหลักทรัพย์ค้ำประกันกับทางธนาคารได้ ซึ่งดีกว่าปล่อยที่ดินเปล่าประโยชน์และต้องเสียภาษีที่ดิน” อธิบดีกรมป่าไม้ ระบุ

ปัจจุบัน บ้านโค้งตาบาง ต.ท่าไม้รวก อ.ท่ายาง  จ.เพชรบุรี  เป็นป่าชุมชนแห่งแรกที่มีการขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าตลอดจนมีการเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอน และมีคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง จำนวน 5,259 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จึงเป็นป่าชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย ที่พร้อมเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิต โดยมูลค่าที่วัดตีเป็นเงินได้กว่า 5 ล้านบาท

นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้

กำหนดเขตพื้นที่ชัดเจน ส่งเสริมจัดการป่าเสื่อมโทรม

นายสุรชัย กล่าวต่อว่า พื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยมีประมาณ 112 ล้านไร่ ซึ่งมีการกำหนดแนวเขตอย่างชัดเจน พื้นที่อนุรักษ์ต้องดูแลรักษาให้ดี พื้นที่ป่าสงวนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ เป็นป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์ก็จัดตั้งเป็นป่าชุมชนให้ประชาชนในพื้นที่ดูแล พื้นที่ไหนที่เสื่อมโทรมก็ส่งเสริมให้มีการจัดการ เช่น คัดเลือกไม้ที่ดีเป็นแม่ไม้ นำไม้ที่เสื่อมคุณภาพออกมา นำไปใช้ประโยชน์ในทางอื่น และเข้าไปปลูกเพิ่มเติมด้วย

ด้าน ผศ.ดร. นันทชัย มองว่า ป่าในแต่ละพื้นที่ มีคุณค่าไม่เท่ากัน ถ้าคุณค่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการไม่ได้ ก็ต้องเข้าไปจัดการ ด้วยในเรื่องกฎหมาย ทัศนคติของคน อาจจะไม่ได้เอื้ออำนวยให้จัดการป่าได้มากนัก แต่ต้องช่วยกัน

“ผมเชื่อว่าถ้าเราได้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องขึ้น ทุกภาคส่วนของประเทศไทย จะมาช่วยจัดการป่าให้มีประสิทธิภาพในแง่การสร้างประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ให้กับคนไทยทุกคนได้” ผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้ ฝากทิ้งท้าย . 


 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันป่าไม้โลกป่าปลูกป่าคาร์บอนเครดิตภาวะโลกร้อน
ผู้เขียน: Thai PBS Digital Media

บทความ NOW แนะนำ