เลือกตั้ง2566 : 15 เขตเลือกตั้งหิน กทม. : สนามเมืองหลวงยากคาดเดา (2)

การเมือง
24 เม.ย. 66
14:13
1,493
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2566 : 15 เขตเลือกตั้งหิน กทม. : สนามเมืองหลวงยากคาดเดา (2)
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทั้ง 33 เขตเลือกตั้งกรุงเทพฯ ครั้งนี้ถือเป็นเขตหินทั้งสิ้น เพราะจะเป็นบทพิสูจน์ใจคนกรุงฯ ว่าจะเลือกใครไปเป็นผู้แทนฯ คนรุ่นใหม่ วิสัยทัศน์ไกล หรืออาวุโสที่มีผลงานเป็นการันตี หรือรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ ที่ไว้เนื้อใจได้

เขต 1 พื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย พระนคร และสัมพันธวงศ์ เด่นชัดที่สุดเป็นปริศนาว่าจะเป็นใคร ระดับอาวุโสอย่างนางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ อดีตส.ส.3 สมัยพรรคประชาธิปัตย์ ที่เหนียวแน่นในพื้นที่มาตั้งแต่เลือกตั้งปี 2544-2548 และ 2554 เพิ่งพลาดท่าปราชัยครั้งแรกในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา ครั้งนี้ซุ่มเตรียมพร้อมขอกลับมาแก้มือใหม่

คู่แข่ง หนีไม่พ้น น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ส.ส.กทม. ปี 2562 พรรคพลังประชารัฐ อดีตภรรยานายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีดีอีเอส ปัจจุบัน ย้ายข้ามขั้ว เป็นผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย กานต์กนิษฐ์ เป็นทายาททางการเมืองคนสำคัญของนายแก้ว แห้วสันตติ อดีต ส.ก.6 สมัย 2 พ่อลูกเคยเป็น ส.ก.เขตพระนคร พร้อมกันอยู่ช่วงหนึ่ง

หากคะแนนผู้สมัครหญิงตัวเก็งทั้ง 2 คนเกิดตัดกันเอง คู่แข่งสำคัญจะเป็นนายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ จากพรรคก้าวไกล นายปารเมศเป็นอดีตนักเรียนกฎหมายภาคภาษาจีน จากมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 3 ของจีน อากงเป็นคนเยาวราช จึงเป็นลูกหลานคนจีนแท้ๆ จากซัวเถา

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ แอบลุ้นนายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีพาณิชย์ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ต้องย้ายหนีออกมาจากพรรคเพื่อไทย

เขต 2 สาทร เขตปทุมวัน เขตราชเทวี จะคล้ายกับเขต 1 คือคนกรุงจะเลือกคนรุ่นเก่าเจนเวทีอย่างอรอรงค์ กาญจนชูศักดิ์ ซึ่งเป็นทายาทตระกูลการเมืองท้องถิ่นกรุงเทพฯ เป็นมาตั้งแต่ส.ข. หรือสภาเขต และส.ก.หรือสภากรุงเทพฯ และเป็นอดีตส.ส.2 สมัยปี 2550 ครั้งนั้นอยู่ทีมเดียวกับนางเจิมมาศ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ และเป็นส.ส.2554 ที่กลับไปใช้เขตเดียวเบอร์เดียวอีกครั้ง

รุ่นอาวุโสที่อาจเป็นคู่แข่งในสนามเลือกตั้ง คือ ลีลาวดี วัชโรบล อดีตรองนางสาวไทย และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ปี 2554 ที่หวังกลับมาทวงเก้าอี้ ส.ส.คืนเช่นกัน

แต่ต้องเจอคู่แข่งสำคัญที่เป็นคนรุ่นใหม่ น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ อดีตส.ส.ปี 2562 อดีตโฆษกพรรคพลังประชารัฐ แต่ปัจจุบันย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย อีกคนคือ น.ส.ศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการศึกษาและการเมืองมายาวนานนับสิบปี ครั้งนี้ สังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ

เขต 4 เขตคลองเตย และเขตวัฒนา นางกรณิศ งามสุคนธฺรัตนา อดีตส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ปัจจุบันเป็นผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย คู่ชิงในพื้นที่

มีทั้ง ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง อดีตโฆษกกทม. ทายาท พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่ากรุงเทพฯ แต่ลงในสนามพรรคประชาธิปัตย์ นอกนั้น ยังมีนายนวธันย์ ธวัชวงศ์เดชากุล อดีตที่ปรึกษาทีมสโมรสรฟุตบอลโปลิศ (ตำรวจ) จากพรรคเพื่อไทย

นายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ อดีต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรครวมพลัง ลูกชายของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว.) จากพรรครวมพลังประชาชาติไทย แต่ครั้งนี้ลงสมัคร ส.ส.ในสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ

แต่กระนั้น ต้องจับตาดูนายภูวกร ปรางภรพิทักษ์ เจ้าของ Prontiara อินทีเรีย นักตกแต่ง รีโนเวทบ้านและคอนโดจากพรรคก้าวไกลไม่ได้เช่นกัน

เขต 6 พญาไท เขตดินแดง มีทั้งระดับอาวุโสและคนรุ่นใหม่ลงแข่งขันแย่งชิงเก้าอี้ ส.ส. ตั้งแต่นายธนา ชีรวินิจ อดีต ส.ก.และอดีตประธานสภากรุงเทพฯ (ส.ก.) และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 2 สมัย ปี 2550 และ 2554 คู่แข่งสำคัญ หนีไม่พ้น น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ปี 2562 แต่ปัจจุบันย้ายค่ายไปพรรคภูมิใจไทย

อีกคน คือ น.ส.อรพินทร์ เพชรทัต ทายาทตระกูลการเมืองท้องถิ่นกรุงเทพฯ อีกคน เพราะทั้งนายชูพงษ์ และนางอนงค์ เพชรทัต บิดามารดา ต่างเคยเป็นอดีต ส.ก. เขตดินแดง ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย กระทั่งถึงพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ครั้งนี้ ลงในสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่เขตนี้ จะมองข้ามนายภัทร ภมรมนตรี หลานชายนายยุรนันทน์ ภมรมนตรี ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทยไม่ได้เช่นกัน

เขตเลือกตั้ง 11 เขตสายไหม เขตหินของจริง เพราะจะไม่ใช่เพียง นายเอกภาพ หงสกุล น้องชายนางปวีณา หงสกุล คนจากตระกูลการเมืองสำคัญของกรุงเทพฯ มายาวนาน ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย ต้องเจอกับคู่แข่งสำคัญ ทนายแจม ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความอิสระด้านสิทธิมนุษยชน จากพรรคก้าวไกล ที่ถูกมองว่า อนาคตไปไกลแน่ ๆ

แต่กระนั้น คู่แข่งสำคัญที่มองข้ามไปไม่ได้ คือผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ที่มีฐานเสียงที่แน่นนหนามากในเขตสายไหม ดูได้จากการเลือกตั้ง ส.ก.ที่ผ่านมา ได้คะแนนสูงกว่า 4 หมื่นคะแนน เขตนี้พรรคไทยสร้างไทย ส่งนายสมชาย เวสารัชตระกูล อดีตผู้สมัครส.ส.พรรคประชาธิปัตย์

อีกคนที่มองข้ามไม่ได้ คือนายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด ซึ่งมีบทบาทมาตลอด นับตั้งแต่โควิด-19 แพร่ระบาดในกรุงเทพฯ เพจนี้จะมีข่าวคราวด้านความช่วยเหลือคนในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ครั้งแรกมีข่าวจะเปิดตัวกับพรรคไทยสร้างไทย แต่สุดท้ายไปเปิดตัวกับพรรคภูมิใจไทย

ใครจะอยู่ ใครจะไป ช่วงโค้งสุดท้าย จับตาให้ดี

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกตั้ง2566 : 15 เขตเลือกตั้งหิน กทม. : สนามเมืองหลวงยากคาดเดา (1)

เลือกตั้ง2566 : "ภูมิใจไทย" มั่นใจตอกเสาเข็ม ปั้นภูเก็ตเมืองสุขภาพระดับโลก

เลือกตั้ง2566: ยื่น "กกต." สอบบัตรเลือกตั้งกรุงลอนดอน ติดรูปผู้สมัครสลับกัน

เลือกตั้ง2566 : ปชป.หนุนปลดล็อก "เซ็กซ์ ทอย" สินค้าควบคุมพิเศษ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง