วิเคราะห์ : ผลเลือกตั้งรอบแรกสะท้อนภาพ "การเมืองตุรกี" อย่างไร

ต่างประเทศ
16 พ.ค. 66
13:01
616
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ : ผลเลือกตั้งรอบแรกสะท้อนภาพ "การเมืองตุรกี" อย่างไร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ตุรกี" จัดเลือกตั้งรอบตัดเชือกปลายเดือน พ.ค.นี้ หลังรอบแรกไม่มีผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีได้คะแนนเกิน 50% อาจสะท้อนได้ว่าการกุมอำนาจนานถึง 2 ทศวรรษของผู้นำคนปัจจุบัน ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกเบื่อหน่ายและแสวงหาทางเลือกใหม่

การเลือกตั้งระดับชาติของตุรกีในครั้งนี้ มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 64 ล้านคน แบ่งเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดี และการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา

ข้อมูลจากสำนักข่าว Anadolu พบว่ามีการนับคะแนนไปแล้ว 99% "เรเซป ไทยิป เออร์ดวน" ประธานาธิบดีคนปัจจุบันได้ไป 49.37% ขณะที่ "เคมาล คิลิชดาโรลู" วัย 74 ปี คู่ท้าชิงจากแนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน "Republican People" ตามมาเป็นอันดับ 2 ที่ 44.95%

เออร์ดวนและคิลิชดาโรลู จะต้องลงชิงชัยกันอีกครั้งในวันที่ 28 พ.ค.นี้ เนื่องจากไม่สามารถกวาดเสียงส่วนใหญ่ 50% ได้สำเร็จตามเป้าหมาย ทั้งคู่แสดงความมั่นใจในการคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งรอบตัดเชือก หลังจากผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการไม่มีผู้สมัครชนะขาดลอย

การเลือกตั้งระดับชาติในครั้งนี้ถือเป็นการแข่งขันกันอย่างขับเคี่ยวมากที่สุด ท่ามกลางโจทย์ท้าทายด้านเศรษฐกิจและการฟื้นฟูความเสียหายจากแผ่นดินไหว

อ่านข่าว : ชาวตุรกีเตรียมเลือกตั้ง "ประธานาธิบดี" รอบตัดสิน

"เออร์ดวน" วัย 69 ปี กุมอำนาจทางการเมืองตุรกีมานาน 20 ปี เริ่มจากนายกรัฐมนตรี ปี 2003 - 2014 และประธานาธิบดี ปี 2014 - ปัจจุบัน แนวทางการกระชับอำนาจของผู้นำตุรกีคนปัจจุบันเข้มข้นมากขึ้น หลังจากเผชิญความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อเดือน ก.ค.2016

ตุรกีเริ่มเปลี่ยนผ่านจากระบบรัฐสภาสู่ระบบประธานาธิบดี ในปี 2018 ช่วยเปิดทางให้ "ประธานาธิบดี" มีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ อำนาจของประธานาธิบดีตุรกีครอบคลุมตั้งแต่การยกเลิกตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การเลือกรัฐมนตรี ไปจนถึงการเลือกผู้พิพากษาศาลสูงสุด

เรเซป ไทยิป เออร์ดวน

เรเซป ไทยิป เออร์ดวน

เรเซป ไทยิป เออร์ดวน

เออร์ดวน กลายเป็นผู้นำที่มีอำนาจมากที่สุดในประวัติศาสตร์ตุรกี นับตั้งแต่ มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก ผู้ก่อตั้งตุรกีและประธานาธิบดีคนแรก การกุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จของเออร์ดวนตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา นำไปสู่การบั่นทอนกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยภายในประเทศ โดยกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมืองหลายพันคนถูกควบคุมตัวในระยะหลัง จนจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของเออร์ดวนเป็นวงกว้าง

ขณะที่ คิลิชดาโรลู ชูนโยบายในการสร้างระบอบรัฐสภาให้แข็งแกร่งอีกครั้ง เพื่อคืนอำนาจให้ตัวแทนของประชาชนในฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป

เคมาล คิลิชดาโรลู

เคมาล คิลิชดาโรลู

เคมาล คิลิชดาโรลู

ปัญหาภาวะเงินเฟ้อ กลายเป็นปัจจัยสำคัญของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หลังจากเมื่อเดือน ต.ค.2022 เงินเฟ้อแตะ 85% สูงที่สุดในรอบ 24 ปี เนื่องจากเออร์ดวนใช้นโยบายลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการส่งออก ส่งผลให้เงินลีราอ่อนค่าลงและราคาสินค้าพุ่งสูงจนกระทบปากท้องของประชาชน ขณะที่การรับมือแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อเดือน ก.พ.อย่างล่าช้า ยิ่งทำให้รัฐบาลตุรกีภายใต้การนำของเออร์ดวนถูกโจมตีอย่างหนัก

ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ชี้ว่า ผู้นำตุรกีทำผลงานได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ แม้ว่าจะได้คะแนนไม่ถึง 50% และต้องลงสู้ศึกรอบตัดเชือกก็ตาม ส่วนระดับคะแนนที่ทิ้งห่างกันไม่มากของคู่ท้าชิงเบอร์ 1 และเบอร์ 2 ชี้ให้เห็นว่าตุรกีกำลังเผชิญความแตกแยกทางการเมืองอย่างชัดเจน

ผศ.มาโนชญ์ อารีย์

ผศ.มาโนชญ์ อารีย์

ผศ.มาโนชญ์ อารีย์

ผศ.มาโนชญ์ อารีย์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มศว. ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้คะแนนนิยมของ เออร์ดวน ตกลงมาอยู่ที่ 49% ในขณะที่ฝ่านค้านขยับขึ้นไปที่ 45% คิดว่าตรงนี้มีนัยสำคัญ ซึ่งสิ่งที่เห็นชัดคือคนตุรกีในสัดส่วนที่มากพอ ๆ กัน แต่มีความคิดเห็นไปคนละทาง

ส่วนหนึ่งเกือบครึ่งประเทศสนับสนุนให้เดินหน้าต่อตามแนวทางการบริหารประเทศของเออร์ดวน อีกส่วนหนึ่งต้องการเปลี่ยนประเทศกลับไปเป็นเหมือนเดิมในระบบรัฐสภา

ตลอด 2 สัปดาห์นี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญทางการเมืองของตุรกี เนื่องจากคู่ท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีน่าจะหาเสียงอย่างขับเคี่ยวมากขึ้น การเลือกตั้งระดับชาติในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการชี้ชะตาผู้นำคนต่อไปเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องชี้วัดทิศทางของตุรกีบนเวทีการเมืองโลก

วิเคราะห์โดย พงศธัช สุขพงษ์

อ่านข่าวอื่นๆ

กกต.กัมพูชา ตัดสิทธิฝ่ายค้านลงเลือกตั้ง ก.ค.นี้

เลือกตั้ง2566 : สื่อต่างชาติเกาะติดเลือกตั้งไทย ชี้สะท้อนความต้องการเปลี่ยนแปลง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง