เลือกตั้ง2566 : นักวิชาการชี้ให้ใจเย็น 8 พรรค MOU จับมือฝ่าด่านอรหันต์

การเมือง
23 พ.ค. 66
19:09
155
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2566 : นักวิชาการชี้ให้ใจเย็น 8 พรรค MOU จับมือฝ่าด่านอรหันต์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เราต้องใจเย็นๆ ตอนนี้ MOU ก็เหมือนการจดทะเบียนสมรส หลังจากนี้ คือการใช้ชีวิตคู่ ที่ต้องจับมือร่วมกัน ฝ่าด่านอรหันต์ คือ การลงมติของสว.

เป็นหนึ่งในข้อคิดเห็น ของ รศ.ดร.สามารถ ทองเฝือ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ต่อการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล หรือ MOU ที่ถูกประกาศจากพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค

รศ.ดร.สามารถ ระบุว่า MOU เป็นเพียงเจตจำนงแรก ที่สัญญาร่วมกันว่า จะก่อตั้งรัฐบาลโดยมีกรอบกติกาอย่างไร ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ทางการเมือง ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย แม้ว่าบางประเทศจะมีการทำลักษณะนี้มาบ้าง และเชื่อว่าจะมีขั้นตอนต่อไป ๆ ที่จะดำเนินการร่วมกัน

ซึ่งแม้ว่า หลายคนอาจจะผิดหวังที่ MOU ไม่ได้ลงรายละเอียดให้ชัดเจนมากกว่านี้ แต่ต้องยอมรับว่า เป็นธรรมชาติของ MOU โดยทั่วไป ที่จะเป็นการวางกรอบกว้างๆ หลังจากนั้น ก็จะกลายเป็น MOA หรือ แนวทางปฏิบัติร่วมกัน

บางคนใจร้อน อยากเห็นการลงลึกแบบนโยบายตอนที่หาเสียง แต่ก็ต้องให้เวลาในการดำเนินการ เพราะยังต้องผ่านขั้นตอนอีกหลาย โดยเฉพาะการผ่านการลงมติของ ส.ว.

รศ.ดร.สามารถกล่าวต่อว่า หลายคนให้ความเห็นว่า ยังไม่ได้ตั้งรัฐบาล ก็ดำเนินการแล้ว หรือต้องรอให้มันเสด็จน้ำก่อน ส่วนตัวผมไม่ได้มองว่ามันเร็วเกินไป แต่นี่เป็นการส่งสัญญาณว่า พรรคทั้ง 8 พรรค มีความพร้อมแล้ว หรือ Get ready for Action ซึ่งมันอาจเป็นกลยุทธ์ในการจัดตั้งรัฐบาลอย่างหนึ่ง

มันก็คล้ายนักกีฬาที่พร้อมจะลงแข่งแล้ว กำลังวอร์มอยู่ข้างสนาม พร้อมลงแข่งขัน ซึ่งแม้ว่าสุดท้ายแล้วจะได้ลงแข่ง หรือไม่ได้ลงแข่ง แต่ก็เป็นหน้าประวัติศาสตร์ทางการเมืองโฉมใหม่รูปแบบหนึ่ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลของทั้งพรรคก้าวไกล พรรคเป็นธรรม และพรรคประชาชาติ ที่ครองเสียงข้างมากใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้วาระหลายวาระใน MOU เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความไม่สงบ เช่น การยืนยันผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่สงวนไว้จะต้องไม่ขัดกับหลักศาสนา

การผลักดันการปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม การผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพ และการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง รวมถึงการกระจายอำนาจที่ทั้งสามพรรคเคยหาเสียงไว้ในเรื่องของจังหวัดจัดการตัวเอง หรือ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ

ในมุมมองของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เชื่อว่า วาระหลายอย่างสะท้อนให้เห็นถึงการประนีประนอม เพื่อให้เดินไปด้วยกันได้ และมีความเข้าใจในบริบทที่แตกต่างของพื้นที่ โดยเฉพาะข้อสงวนทั้งเรื่องสมรสเท่าเทียม หรือสุราก้าวหน้าที่อาจจะขัดกับหลักศาสนา และเชื่อว่าในอนาคตอาจมีรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้น

หากได้จัดตั้งรัฐบาลจริง คนในพื้นที่ก็มีความหวัง และจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ส.ส.ส่วนใหญ่อยู่ในฐานะพรรคฝ่ายค้านมาโดยตลอด หลายคนจึงรอดูฝีไม้ลายมือว่า เมื่อย้ายฝั่งมาเป็นฝ่ายรัฐบาลที่มีอำนาจมากขึ้น จะสามารถแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้และดับไฟใต้ที่คุโชนมาตลอด 19 ปีได้หรือไม่

ติชิลา พุทธสาระพันธ์ ผู้สื่อข่าว ศูนย์ข่าวภาคใต้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง