เลือกตั้ง2566 : เปิดประวัติ "หมอชลน่าน" จากดาวสภาสู่ หน.เพื่อไทย คู่วิวาทะ "ศิธา"

การเมือง
25 พ.ค. 66
14:13
8,935
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2566 : เปิดประวัติ "หมอชลน่าน" จากดาวสภาสู่ หน.เพื่อไทย คู่วิวาทะ "ศิธา"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดประวัติ "นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว" จากดาวสภา สู่ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก่อนกลายเป็นคู่วิวาทะกับ "ศิธา ทิวารี" แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคไทยสร้างไทย

จากกรณีวิวาทะระหว่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ นายศิธา ทิวารี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคไทยสร้างไทย มีจุดเริ่มต้นจากการตั้งคำถามของนายศิธา ระหว่างการแถลงรายละเอียด MOU ของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล

โดยเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา นายศิธา ได้ร่วมฟังการแถลงข่าว จากแกนนำจาก 8 พรรคการเมือง ในการลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล

จากคำถามต้นเหตุ ที่นายศิธา ได้ตั้งคำถามไปยัง 8 พรรคการเมือง

“ท่านจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชน ว่าท่านจะยืนตัวตรง สู้กับกลไกที่เผด็จการฝังไว้ในบทเฉพาะกาล 5ปีแรกของ รธน.60 โดยกำหนดให้ ส.ว. มีสิทธิเลือกนายกฯ ด้วยการเซ็น #AdvanceMOU อีก 1 ฉบับ ระบุว่าท่านจะทำงานร่วมกัน ตามฉันทานุมัติของประชาชน ที่มีให้กับพรรคฝ่ายประชาธิปไตย (หรือพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม) ไม่ว่าท่านจะเป็นรัฐบาล หรือฝ่ายค้านร่วมกันก็ตาม” ได้หรือไม่

หลังจากนั้น การวิวาทะ ระหว่าง นายศิธา และ นพ.ชลน่าน ก็เริ่มขึ้น มีการโต้กลับกันไปมา 

มาทำความรู้จักกับ นพ.ชลน่าน จากอาชีพแพทย์สู่เส้นทางนักการเมือง จนดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

สำหรับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เกิดเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2504 ที่ ต.ไหล่น่าน อ.เวียงสา จ.น่าน เป็นบุตรของนายใจ และนางหมาย ศรีแก้วสำเร็จการศึกษาแพทย์ศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปีการศึกษา พ.ศ. 2529 ร่วมรุ่นกับ นายแพทย์ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ และ นายแพทย์บัญญัติ เจตนจันทร์ และปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2542

สำหรับการทำงาน หลัง นพ.ชลน่าน จบการศึกษาได้เริ่มการทำงานเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลเวียงสา อ.เวียงสา จ.น่าน และเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว อ.ปัว จ.น่าน ระหว่างปี พ.ศ. 2538 – พ.ศ. 2543

ในปี 2544 นพ.ชลน่าน ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก สังกัดพรรคไทยรักไทย และได้รับเลือกตั้งมาอีก 5 สมัยต่อกัน

ในปี พ.ศ. 2547 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ปี พ.ศ.2548 เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และเป็นกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) นอกจากนั้นแล้ว เขายังได้รับแต่งตั้งเป็นรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ในระยะหนึ่งอีกด้วย

ปลายปี พ.ศ. 2552 สื่อมวลชนประจำรัฐสภา ได้ตั้งฉายานักการเมือง โดยให้ฉายานายแพทย์ชลน่านเป็น "ดาวสภาฯ" ด้วยบทบาทการอภิปรายโดยมุ่งเน้นข้อมูลมากกว่าการใช้วาทะศิลป์

เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2555 นพ.ชลน่าน ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2555 กระทั่งได้รับโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556

ในปี พ.ศ. 2564 วันที่ 28 ต.ค.2564 นพ.ชลน่าน ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

วันที่ 23 ธ.ค.2564 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

ทั้งนี้ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 พรรคเพื่อไทยมี ส.ส.เขต คะแนนนำ 112 ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 29 ที่นั่ง รวมมี ส.ส.ทั้งหมด 141 ที่นั่ง

ซึ่งได้เป็นหนึ่งพรรคที่ได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลที่มีคะแนนเป็นอันดับ 1

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

วิวาทะ "เพื่อไทย-ไทยสร้างไทย" ดีลตั้งรัฐบาลสั่นคลอน

วิเคราะห์ : “เพื่อไทย-ปิยบุตร” เปิดศึกวิวาทะ ชิงเก้าอี้ “ประธานรัฐสภา” 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง