รับวันงดสูบบุหรี่โลก "สวีเดน" มุ่งหน้าสู่สถานะประเทศปลอดบุหรี่

ต่างประเทศ
1 มิ.ย. 66
07:16
313
Logo Thai PBS
รับวันงดสูบบุหรี่โลก "สวีเดน" มุ่งหน้าสู่สถานะประเทศปลอดบุหรี่
เมื่อวานนี้ 31 พ.ค.เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก มีข้อมูลจากต่างประเทศที่น่าสนใจเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ เมื่อสวีเดนประกาศข่าวดีว่าตอนนี้ขยับเข้าใกล้การเป็นประเทศปลอดบุหรี่แล้ว

เดิมทีสวีเดนมีอัตราการสูบบุหรี่ที่ต่ำที่สุดในยุโรปอยู่แล้ว แล้วตอนนี้กำลังขยับเข้าใกล้สถานะการเป็นประเทศปลอดบุหรี่ขึ้นไปอีก ตามเกณฑ์มาตรฐานการมีประชากรที่สูบบุหรี่ไม่ถึงร้อยละ 5 ของประชากรทั้งหมด

อ่าน : 31 พฤษภาคม วันงดสูบบุหรี่โลก

เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2566 ข้อมูลจาก Eurostat หน่วยงานด้านสถิติในยุโรป เปิดเผยว่า ในปี 2562 ชาวสวีเดนที่อายุ 15 ปีขึ้นไปมีเพียงร้อยละ 6.4 เท่านั้น ที่เป็นผู้สูบบุหรี่ทุกวัน ซึ่งถือเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในสหภาพยุโรปและต่ำกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยใน EU ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 18.5

สวีเดนมีประชากร 10.5 ล้านคน และมีข้อบังคับการห้ามสูบบุหรี่ตามที่สาธารณะที่เข้มงวดที่สุดแห่งหนึ่ง ทั้งการห้ามสูบบุหรี่ที่ป้ายรถประจำทาง ชานชาลารถไฟ นอกทางเข้าโรงพยาบาลหรืออาคารสาธารณะใดๆ และเหมือนกับชาติอื่นๆ ในยุโรปที่ห้ามสูบในร้านอาหารหรือสถานบันเทิง และตั้งแต่ปี 2562 สวีเดนยังห้ามสูบบุหรี่ตามที่นั่งนอกอาคารด้วย

ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งมองว่า การรณรงค์ลดสูบบุหรี่ที่ทางการสวีเดนเดินหน้าผลักดันต่อเนื่องมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จนี้ ประกอบกับกฎหมายที่เข้มงวด มาตรการต่างๆ และการรณรงค์ ส่งผลให้สังคมมองภาพคนสูบบุหรี่ในแง่ลบ เกิดการกดดัน อคติต่างๆ จนทำให้ผู้สูบบุหรี่ถูกบีบให้ต้องหลบไปสูบตามที่ที่กำหนดหรือได้รับอนุญาตจริงๆ เท่านั้น

อ่าน : หมอชวนลด ละ เลิก “สูบบุหรี่” สาเหตุก่อโรคถุงลมโป่งพอง-มะเร็งปอด

ขณะที่บางส่วนมองว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จำนวนผู้สูบบุหรี่ในสวีเดนมีไม่มาก เป็นเพราะที่นี่มีความนิยม Snus (สนูซ) ผลิตภัณฑ์นิโคตินบรรจุซอง ทำจากยาสูบ น้ำเกลือ และมีการปรุงแต่งกลิ่นรสต่างๆ และบริโภคผ่านการอมไว้ใต้ริมฝีปากแทนการสูบที่ต้องผ่านกระบวนการเผาไหม้เหมือนกับบุหรี่ ซึ่งบางคนมองว่า Snus เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมสวีดิช

ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจากสวีเดน ระบุว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะส่งผลกระทบกับช่องปาก ทั้งเหงือกและฟันได้เช่นกัน เนื่องจากจะอยู่ติดกับเหงือกเป็นเวลานาน แต่ในมุมหนึ่งมองว่าถือเป็นการลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพลงจากการสูบบุหรี่แม้จะไม่ได้ปลอดภัยเสียทีเดียว เสมือนเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค

อ่าน : "บุหรี่ไฟฟ้า" มีสารพิษ เสพติด อันตราย

การศึกษาเมื่อปี 2551 ระบุว่า ความเสี่ยงการเกิดมะเร็งช่องปากจากการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดไร้ควันต่ำกว่าการสูบบุหรี่หรือยาสูบชนิดอื่นๆ แต่ยังสูงกว่าการไม่ใช้ยาสูบโดยสิ้นเชิง และนอกจากนี้ ยังมีการศึกษาที่เชื่อมโยง Snus กับความเสี่ยงโรคหัวใจที่เพิ่มขึ้น เบาหวาน รวมถึงการคลอดก่อนกำหนด

อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญยังมองว่าเป้าหมายที่แท้จริงคือการสร้างสังคมซึ่งปลอดนิโคติน ปลอดยาสูบไม่ว่าในรูปแบบใด ซึ่งจะดีต่อสุขภาพมากที่สุด แต่ในขณะนี้ในเมื่อยังมีความต้องการใช้ จึงยังมองว่าการเปิดให้ผู้บริโภคมีทางเลือก ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง