การเลี้ยงดูเด็กเชิงบวก กลายเป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเชิงลบของเด็กไทยที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น แต่การลงโทษ และ ดุด่า ไม่ช่วยแก้ปัญหา ซ้ำยังส่งผลร้ายต่อเด็กได้อย่างไม่คาดคิด
การกล่าวชมเชยลูกอย่างจริงใจ หรือ การออกคำสั่งในลักษณะเชิงบวกอย่างมีเหตุผล และ การให้รางวัลเล็กๆน้อย รวมทั้งการปล่อยให้เด็กเป็นฝ่ายเลือก และ กำหนดกิจกรรมที่จะทำร่วมกันกับพ่อแม่ ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และ สร้างความภาคภูมิใจให้แก่เด็ก สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้ดีกว่าการออกคำสั่งเชิงลบ หรือ การใช้ความรุนแรง ซึ่งนอกจากไม่ช่วยแก้ปัญหายังให้ผลที่ตรงข้าม

นี้เป็นหนึ่งในการปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูกของผู้ปกครองโรงเรียนต้นแก้วผดุงพิทยาลัย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ หลังได้รับการฝึกอบรมหลักสูตรการเลี้ยงดูเด็กเพื่อให้มีสุขภาพดีตลอดชีวิต หรือ การเลี้ยงดูเด็กเชิงบวก จาก มูลนิธิศานติวัฒนธรรม และ นักจิตวิทยา โรงพยาบาลหางดง เพื่อสร้างทักษะการสื่อสารหลากหลายรูปแบบ
วิราพร หมอยาดี ผู้ปกครองบอกว่า การได้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวก กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของครอบครัวอย่างแท้จริง จากเดิมที่เมื่อก่อน หากลูกทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ก็มักจะ ดุ หรือ ด่าในทันที เพราะตนเองก็เติบโตมากับการถูกเลี้ยงดูในรูปแบบนั้น แต่หลังจากได้เรียนรู้แนวทางใหม่ๆ ก็พบว่าการพูดคุยอย่างมีเหตุผล การควบคุมอารมณ์ตนเอง และการใช้ความเข้าใจ กลับได้ผลดีมากกว่า ลูกมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะในสิ่งที่เขาทำได้ดี แม้บางครั้งจะมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น เราก็ไม่ด่วนตำหนิ แต่เลือกที่จะชี้แนะและให้แนวทางที่ถูกต้อง เพื่อให้เขารู้ว่าเขายังสามารถเรียนรู้และปรับปรุงได้ โดยไม่ต้องรู้สึกว่าตนเองด้อยค่า หรือสูญเสียความมั่นใจ
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างมาก คือ เรื่องอารมณ์ของตัวเราเอง เราใจเย็นมากขึ้น และสามารถคุยกับลูกได้ดีขึ้น แม้จะมีลูกสองคนที่บางครั้งทะเลาะกัน แต่เราก็พยายามสอนให้เขาเข้าใจถึงสาเหตุของความขัดแย้ง พูดคุยกันด้วยเหตุผล และหาทางออกด้วยกัน เช่น การเปลี่ยนวิธีเล่น หรือ การขอโทษกัน

วิราพร หมอยาดี ผู้ปกครอง
วิราพร หมอยาดี ผู้ปกครอง
สร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" ให้กับเด็ก ผ่านวินัยเชิงบวก
หลักสูตรการเลี้ยงดูเด็กเพื่อให้มีสุขภาพดีตลอดชีวิต เกิดขึ้นจากความร่วมมือ องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์กรทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด มหาวิทยาลัยแบงกอร์ มหาวิทยาลัยเคปทาวน์ และ มหาวิทยาลัยสเตลเลนบอช โดยมีจุดประสงค์เพื่อทดสอบชุดหลักสูตรการอบรมพ่อแม่ที่มีประสิทธิภาพ เข้าถึงได้ง่าย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ใช้ได้ในทุกบริบททางวัฒนธรรม และขยายผลได้เพื่อลดความเสี่ยงในการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและปรับปรุงสุขภาวะของเด็กในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง
ปฏิภาณี บุตรชัย นักจิตวิทยา รพ.หางดง บอกว่า ปัญหาพฤติกรรมในเด็กกลายเป็นประเด็นที่พบได้บ่อยทั้งในครอบครัวและสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว ต่อต้าน ขาดวินัย หรือติดการใช้โทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะในอำเภอหางดง มีจำนวนเด็กที่เข้ารับการปรึกษาเรื่องพฤติกรรมในแต่ละปีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
“หลักสูตรการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวก” จึงถูกนำมาปรับใช้ในระดับโรงเรียน เพื่อเสริมสร้างทักษะใหม่ให้กับผู้ปกครอง เน้นการ สอนทักษะการสื่อสารเชิงบวก ทั้งในด้านการพูด น้ำเสียง ท่าทาง และภาษากาย เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลกระทบโดยตรงต่อพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็ก การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ในวิธีการพูดคุยกับลูก เช่น ลดการใช้น้ำเสียงรุนแรง หรือการแสดงออกเชิงลบ สามารถสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยและส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีในเด็กได้อย่างมีนัยสำคัญ
ในโครงการนี้ ผู้ปกครอง จะเข้าร่วมกิจกรรมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 8 ครั้ง ซึ่งในแต่ละสัปดาห์จะมีการพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสะท้อนผลการนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ที่บ้าน โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และหากสามารถขยายสู่โรงเรียนอื่นๆจะยิ่งส่งผลเชิงบวกอย่างกว้างขวาง เพราะปัญหาพฤติกรรมเด็กไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัวอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของระบบการดูแลและการสนับสนุนที่ควรเชื่อมโยงกันทั้งบ้าน โรงเรียน และชุมชน
หนึ่งในผลสะท้อนที่ประทับใจที่สุด คือ คำพูดของเด็กที่บอกกับแม่ว่า “แม่ทำไมวันนี้แม่เป็นนางฟ้าหรือเปล่า”ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ปกครองรู้ตัวว่าการเปลี่ยนแปลงของตนเองส่งผลกับลูกอย่างไร การที่แม่ใจเย็นลง ใช้คำพูดและวิธีการที่อ่อนโยนมากขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกแน่นแฟ้นขึ้น เด็กให้ความร่วมมือมากขึ้น และบรรยากาศในบ้านดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ปฏิภาณี บุตรชัย นักจิตวิทยา รพ.หางดง
ปฏิภาณี บุตรชัย นักจิตวิทยา รพ.หางดง
เปรมฤดี เสพสิน หัวหน้ากิจการนักเรียน ร.ร.ต้นแก้วผดุงพิทยาลัยระบุว่า ปัญหาหลักที่พบ คือ การขาดการสื่อสารระหว่างผู้ปกครองกับลูก ซึ่งมาจากหลากหลายปัจจัย เช่น ความต่างวัย ภาวะเศรษฐกิจที่บีบคั้นเวลาของผู้ปกครอง รวมถึงความรู้สึกว่า “ไม่รู้จะเริ่มพูดกับลูกยังไง” บรรยากาศในวันแรกจึงมีผู้ปกครองบางคนที่เต็มไปด้วยความกังวล ความเครียด และ แม้กระทั่งผู้ปกครองบางคนหลั่งน้ำตา หลังได้สะท้อนถึงภาระ ความเหนื่อยล้า และความรู้สึกติดค้างที่มีต่อบทบาทของตนเองในการเลี้ยงลูก

เปรมฤดี เสพสิน หัวหน้ากิจการนักเรียน ร.ร.ต้นแก้วผดุงพิทยาลัย
เปรมฤดี เสพสิน หัวหน้ากิจการนักเรียน ร.ร.ต้นแก้วผดุงพิทยาลัย
แต่เมื่อการอบรมผ่านไป ผู้ปกครองเหล่านั้นกลับมาพร้อมกับรอยยิ้มและแววตาที่เต็มไปด้วยความหวัง พวกเขาเริ่มเห็นทางออก เริ่มเข้าใจว่าปัญหาในครอบครัวนั้นสามารถเยียวยาได้ ด้วยวิธีการที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง นั่นคือ “การสื่อสารเชิงบวก” และ “การให้ความเข้าใจ” แทนการตำหนิหรือลงโทษ
หลังจากจบการอบรม โรงเรียนได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริงในตัวเด็ก เด็กๆ มีความภูมิใจในตัวเองมากขึ้น กล้าแสดงออก มีความมั่นใจ และเริ่มแสดงพฤติกรรมในเชิงบวกมากขึ้น ไม่เพียงแค่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่รวมถึงการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครูด้วย
มานิช ถาอ้าย ผอ.ร.ร.ต้นแก้วผดุงพิทยาลัย ให้ความเห็นว่าการส่งเสริมพฤติกรรมที่เหมาะสมในเด็กไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของโรงเรียนหรือครอบครัวเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น หากแต่ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างเป็นระบบ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ "เด็กเป็นศูนย์กลาง" ในการพัฒนาอย่างรอบด้าน ทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต และคุณธรรมจริยธรรม
"การเสริมสร้างวินัยเชิงบวก" ซึ่งไม่ใช่การควบคุมด้วยความกลัวหรือความรุนแรง แต่คือการสร้างวินัยผ่านความเข้าใจ การให้กำลังใจ และการสื่อสารอย่างเหมาะสมกับวัยของเด็ก แม้เด็กจะอยู่กับครูในโรงเรียนถึงหนึ่งในสามของเวลาในแต่ละวัน แต่ในความเป็นจริง พวกเขาอยู่กับผู้ปกครองมากกว่า ดังนั้น การเลี้ยงดูจากที่บ้านจึงมีผลโดยตรงต่อพฤติกรรมและพัฒนาการทางจิตใจของเด็กอย่างยิ่ง
การสื่อสารที่ดีระหว่างครูและผู้ปกครอง จึงกลายเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเด็กแบบองค์รวม ทั้งสองฝ่ายควรร่วมกันกำหนดแนวทางในการดูแลเด็ก เช่น การใช้คำพูดที่ให้กำลังใจ ไม่ตำหนิซ้ำซาก การเข้าใจว่าเด็กในแต่ละวัยมีความต้องการและวิธีสื่อสารที่แตกต่างกัน ซึ่งหากใช้วิธีการที่เหมาะสม ก็จะช่วยลดความรุนแรงในครอบครัวและสร้างความเข้าใจอันดีในบ้าน
เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความเข้าใจ ย่อมมีโอกาสสูงในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถควบคุมตนเองได้ รู้จักการเคารพสิทธิของผู้อื่น และไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา การส่งเสริมพฤติกรรมทางบวก เช่น การรู้จักขอโทษเมื่อทำผิด การรู้จักแบ่งปัน การรู้จักอดทนรอคอย ล้วนเป็นการปูพื้นฐานที่ดีให้กับเด็กในการดำเนินชีวิตในสังคม ในทางกลับกัน หากเด็กไม่เคยได้รับการฝึกฝนหรือเห็นแบบอย่างที่ดี ก็อาจกลายเป็นต้นตอของปัญหา เช่น ความรุนแรงในโรงเรียน การละเมิดสิทธิของผู้อื่น หรือพฤติกรรมเสี่ยงในอนาคต

มานิช ถาอ้าย ผอ.ร.ร.ต้นแก้วผดุงพิทยาลัย
มานิช ถาอ้าย ผอ.ร.ร.ต้นแก้วผดุงพิทยาลัย
แท็กที่เกี่ยวข้อง: