เวียดนามวันนี้ มีความทะเยอทะยานที่แข่งกับประเทศในยุโรป คนไทยไม่ได้คิดหรอกว่า ประเทศที่ได้ต่อสู้กับชาติมหาอำนาจ อย่างสหรัฐอเมริกามาอย่างโชกโชน จะสามารถพลิกผันชะตากรรมของตัวเองที่ถูกทำลายทุกหย่อมหญ้าให้กลายมาเป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่ และตัวใหญ่เสียด้วยที่จะคำรามใส่ไทยได้
ทุกวันนี้สื่อไทยมักตีพิมพ์ข่าวเกี่ยวกับการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง และการเมืองและการทูตที่ชาญฉลาดของเวียดนามว่าเป็นคู่แข่ง เอาเข้าจริงเวียดนามเขาไม่ได้แข่งกับไทย ตอนนี้ผู้นำเวียดนามปรับใหญ่ทุกโครงสร้าง เพราะทราบดีว่าถ้าไม่ทำ ประเทศไปไม่รอด นั่นหมายความว่า พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจะพังไปด้วย ในพรรคระบอบนี้มีคุณสมบัติที่น่าศึกษาคือ มีจุดประสงค์ต้องทำให้ได้ ไม่ยกเลิก

เวียดนามต้องการแข่งกับยุโรป มีหมุดหมายต้องเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วโดยมีรายได้ระดับกลางค่อนไปทางสูง ตอนนี้ข่าวดังจากเวียดนามมักจะเป็นข่าวเกี่ยวกับการปราบคอร์รัปชันทุกแห่งหน รวมทั้งการตอบรับการลงทุนจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี
คนไทยต้องเรียนรู้จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสงครามเวียดนาม เพราะเรามีส่วนรู้เห็นและได้ให้ความช่วยเหลือพันธมิตรสหรัฐฯ ในการต่อต้านภัยจากคอมมิวนิสต์

คนไทยน่าจะสะท้อนบทเรียนครบรอบ 50 ปีสงครามเวียดนามว่า เรากำลังยืนอยู่บนจุดเปลี่ยนสำคัญ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทูต แม้ไทยจะไม่ได้เป็นสมรภูมิรบแบบ เวียดนาม ลาว หรือกัมพูชาก็ตาม แต่ไทยก็ยอมให้สหรัฐฯ ใช้สนามบินและฐานทัพอากาศในอีสาน ส่งเครื่องบินโจมตีเวียดนาม เหนือ และยังส่งทหารไทยกว่า 10,000 นาย ไปร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองทัพสหรัฐฯ ในเวียดนามใต้
ขณะนี้ไทยเผชิญกับผลพวงสืบเนื่องมาจากสงครามเวียดนาม คือความเสี่ยงของการพึ่งพาอำนาจภายนอกมากเกินไป บทบาทไทยในสงครามเวียดนามมีในฐานะพันธมิตรยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในยุคสงครามเย็น ไทยได้รับความช่วยเหลือทางทหารและเศรษฐกิจจำนวนมาก แต่เมื่อสหรัฐฯ ถอนตัวจากอินโดจีนและลดบทบาทในภูมิภาค ความเปลี่ยน แปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ก็ทำให้ไทยต้องปรับตัวอย่างฉับพลัน ตอนนี้เจอประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ เล่นแรง เรื่องภาษีเลยเสียศูนย์อย่างแรง
สงครามเวียดนามให้บทเรียนไทยสำคัญอีกคือ ความแปลกแยกและช่องว่างภายในสังคมไทย ระหว่างเมืองกับชนบท ชนชั้นสูงกับแรงงาน อนุรักษ์นิยมกับประชาธิปไตย ความแตกแยกนี้ในไทยยังไม่ได้รับการดูแล แต่ในเวียดนามมันเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องแก้ไขทันที
ในวันนี้ไทยยังคงเผชิญกับความขัดแย้งภายในอย่างรุนแรง บทเรียนชัดเจนจากอดีตคือ ประเทศจะแข็งแกร่งได้ ก็ต่อเมื่อมีระบบสังคมที่เป็นธรรม ไม่ใช่มีแต่คำสั่งจากเบื้องลงมาอย่างเดียว
ไทยควรเรียนรู้จากเวียดนาม ซึ่งสามารถลุกขึ้นจากสงครามมากลายเป็นเศรษฐกิจชั้นกลาง มีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ มีเอกภาพในประเทศ สามารถวางแผนระยะยาวและต่อเนื่อง และมีนโยบายการทูตที่ยืดหยุ่น

ในภาพรวมไทยอาจจะมีความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า แต่ก็ต้องเผชิญโจทย์ใหม่ในยุคโลกหลังสงครามเย็น โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจที่ต้องเพิ่มรายได้และความอยู่ดีกินดี ยังต้องปรับตัวให้เจ้ากับเทคโนโลยีและประชากรสูงวัย และบทบาทในเวทีโลก ทั้งหลายทั้งปวงไทยต้องต้องมีนโยบายชัดเจน
ที่น่าสนใจ ผู้นำเวียดนามกล้าย้อนกลับไปทบทวนบทเรียนสงครามอย่างจริงจัง ทั้งข้อดีและข้อเสีย สำคัญที่สุดคือ การยอมรับบาดแผลทางสังคม แต่ส่วนไทย กลับมีการพูดคุยถึงประวัติศาสตร์ช่วงนี้น้อยมาก ๆ การหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับอดีต ทำให้การเยียวยาในสังคมเป็นไปลำบาก และการพัฒนาที่ยั่งยืนก็ทำได้ไม่เต็มที่

ขณะนี้ไทยเฝ้ามองเวียดนามมีแต่ความกลัวว่า ประเทศนี้กำลังแซงหน้าเราไปในด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี และน่าจะมีคนไทยบางส่วนตั้งคำถามว่า ทำไมเวียดนามจึงสามารถทำได้ ?
บทเรียนประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนคือประเทศจะมีความแข็งแกร่งต้องใช้เวลาสร้างจากมือของประชาชนเอง ไม่สามารถยืมมือหรืออาศัยพลังจากต่างชาติได้
ท้ายที่สุด ประเด็นคือไทยเราจะมีความสามัคคี ความยืดหยุ่น และความกล้าที่จะมองอดีตตรงไปตรงมา พร้อมทั้งเตรียมตัวสำหรับอนาคตอย่างรอบคอบหรือไม่
มองเทศคิดไทย โดย : กวี จงกิจถาวร สื่อมวลชนอาวุโส
อ่านข่าว
สงครามการค้าดีกว่าสงครามอาวุธ ? "สหรัฐฯ" จัดระเบียบโลกใหม่
เวียดนาม มังกรผงาด "วาระแห่งชาติ-พลังขับเคลื่อน" ยิ่งใหญ่ในใจ