สั่นสะเทือนเพราะรายชื่อในหมายเรียกนั้น มีประมุขวุฒิสภา อย่างนายมงคล สุระสัจจะ และพล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ประธาน และรองประธานฯ รวมอยู่ด้วย
อีกทั้ง สว. “ตัวตึง” ที่เป็นระดับหัวขบวน ทั้งในตำแหน่งประธาน กมธ. และในกลุ่มแถวหน้าที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการเข้ามาทำคดีของดีเอสไอตั้งแต่ต้น
จนบางคนถูกระบุว่า มีบทบาทและความเคลื่อนไหวผิดปกติออกหน้าออกตาชัดเจนเกินเหตุ ในวันเลือก สว.ระดับประเทศ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี
เมื่อรวมเสร็จสรรพ สว.ที่ถูกหมายเรียกล็อตแรก มีมากถึง 54 คน มากกว่า 1 ใน 4 จาก สว. 200 คน และยังไม่แน่นักว่า จะมีล็อต 2 ตามมา หรือมีคิวจะโดนในคดีฟอกเงินและอั้งยี่ ที่ดีเอสไอเป็นผู้ทำคดีอาญา อีกหรือไม่
จึงสะท้อนถึงความน่าเชื่อถือต่อวุฒิสภา ซึ่งเปรียบเสมือนสภาสูง ทำหน้าที่ควบคู่กับสภาผู้แทนราษฎร รวมกันเรียก “อำนาจนิติบัญญัติ”
เป็นหนึ่งใน 3 อำนาจอธิปไตย ตามระบอบประชาธิปไตยที่ถือเป็นเสาหลักสำคัญ
แต่กลายเป็น (ถูกกล่าวหา) ว่า ไปมีส่วนกับการได้มา ด้วยกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง ทั้งยังพยายามปกป้องรักษาสถานภาพของตนเอง เมื่อเกิดข้อสงสัยจากฝ่ายที่เห็นผิดปกติ ใช้วิธีการกล่าวหาตอบโต้เพื่อหวังดิสเครดิต อาทิ ลุแก่อำนาจ ดีเอสไอลงพื้นที่ตรวจสอบโดยไม่เป็นธรรมเป็นกลาง หรือแม้แต่ข้ออ้าง สว.มีศักดิ์สูงกว่า
ทั้งที่เรื่องจะได้รับการยอมรับหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ฝีมือ และตัดสินผลงานเป็นที่ประจักษ์ว่า ถูกต้อง เหมาะสม ชอบธรรม คุ้มค่า ไม่ใช่ดูว่า ใครมีศักดิ์สูงกว่ากัน
และไม่ใช่แค่แย่งชิงคว้าตำแหน่งสำคัญ ทั้งประธาน รองประธาน และประธานกมธ.ชุดต่าง ๆ ที่วุฒิสภา มีจนเหี้ยน โดยไม่แบ่งให้ฝ่ายที่เห็นแตกต่างเลย อย่างในช่วงที่ผ่านมา
ท่ามกลางวิกฤติศรัทธาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกับรัฐสภาไทย เพราะในส่วนสภาผู้แทนฯ ก็แบ่งเป็น 3 ฝ่าย ขาดเอกภาพแม้แต่ในพรรคร่วมรัฐบาล ไม่นับฝ่ายค้าน ก็แตกเป็น 2 ขั้ว พรรคแกนนำคุมเสียง สส.พรรคร่วมฯไม่ได้ เพราะมีจุดยืนต่างกัน ทั้งเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ และร่างกฎหมายหลายฉบับ รวมทั้งเอนเตอร์เมนต์คอมเพล็กซ์ ที่มีกาสิโนสอดไส้อยู่ด้วย
ประมุขที่เป็นประธานรัฐสภา โดยตำแหน่งด้วย ก็ดูจะไม่ได้รับการยอมรับเรื่องความเป็นกลางนัก มิหนำซ้ำถูกตั้งคำถาม เรื่องเปิดบ้านรับประธาน ป.ป.ช.คนใหม่ ที่มีปมฝ่ายค้านเข้าชื่อถอดถอนอีกต่างหาก
ล่าสุด ยังจะของบพัฒนาปรับปรุงหรือรีโนเวทสภาฯ จากงบปี 2569 อีกเกือบพันล้านบาท ทั้งที่เพิ่งรับมอบอาคาร 100 % ไปเมื่อกลางปี 2567 ยังไม่ครบปี แถมเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังมีปัญหา
การถูกหมายเรียกของ สว. อันเป็นผลจากการเข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่อาจผิดกฎหมายครั้งนี้ ยังส่งผลถึงภาพพจน์ความน่าเชื่อถือ และการทำหน้าที่ที่ผ่านมา จะถูกต้องเหมาะสมด้วยหรือไม่ อย่างไร
เพราะแม้จะไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ ร่วมกับ สส.ได้อีก แต่บทบาทและอำนาจ สว. ยังถือได้ว่ามีความสำคัญอยู่มาก โดนเฉพาะการพิจารณาให้ความเห็นชอบกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่มีคิวรออีกอื้อ
ก่อนหน้านี้ไม่นาน ก็เพิ่งตีตก 2 คน ที่ถูกเสนอชื่อเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง ศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อ.คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และนายชาตรี อรรจนานันท์ อดีตอธิบดีกรมการกงสุล ด้วนเหตุผลที่เชื่อว่า น่าจะมาจากปมการเมือง
หลังจากถูกตั้งข้อสังเกต ตั้งแต่ต้นว่า สว.ชุดนี้เชื่อมโยงกับบางพรรคการเมืองใหญ่
ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ ถูกตั้งคำถามไม่น้อยว่า เหมาะสม ถูกต้องเพียงไร และใครต้องรับผิดชอบบ้างหรือไม่ หากแท้จริงแล้ว สว.เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองจริง
เพราะขนาดวางกลไกกับดัก ถึงขั้นให้เลือกไขว้ถึง 20 กลุ่มดักทางไว้โดยกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
ยังไม่วายโดนนักลากตั้งมืออาชีพ ทะลวงไส้จนกลวง
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว : ยุติค้นหาผู้สูญหายตึก สตง.ถล่ม อีก 7 คนที่ยังไม่พบรอผล DNA
ทั่วประเทศรับหีบบัตร-อุปกรณ์คึกคัก อย่าลืม! ไปใช้สิทธิ์ "เลือกตั้งนายกฯ-สท." พรุ่งนี้
“ทุเรียนไทย” ออกเดินทาง “ขนส่งทางราง” คือคำตอบ “ลดต้นทุน-ลดคาร์บอน”