วันนี้ ( 7 ก.ค.2568) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทย เดือนมิ.ย. 2568 เท่ากับ 100.42 เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย. 2567 ซึ่งเท่ากับ 100.67 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง0.25% โดยปัจจัยหลักมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า ประกอบกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดหลายรายการโดยเฉพาะไข่ไก่ ผักสด และผลไม้สด ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธฺศาสตร์การค้า(สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิย์
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธฺศาสตร์การค้า(สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิย์
อย่างไรก็ดี ยังมีสินค้าอาหารบางรายการที่มีราคาสูงขึ้น เช่น เนื้อสุกร และอาหารสำเร็จรูป สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2568 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยลดลง 0.57% อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 6 จาก 137 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (บรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม สปป.ลาว) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ลดลง0.25% ในเดือนนี้ มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ
ในขณะที่หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง1.45 % จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มพลังงาน (ค่ากระแสไฟฟ้า แก๊สโซฮอล์ น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน) ของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว โฟมล้างหน้า ยาสีฟัน) สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (น้ำยาถูพื้น น้ำยาล้างจาน ผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม) และเสื้อผ้า (เสื้อยืดบุรุษและสตรี เสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี กางเกงขายาวบุรุษ) ขณะที่มีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ค่าเช่าบ้าน ค่าแต่งผมบุรุษและสตรี และค่าอาหารสัตว์เลี้ยง

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 1.64% จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มอาหารสำเร็จรูป (ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว) กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ (เนื้อสุกร ปลานิล ปลาทู) กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟ (ร้อน/เย็น) น้ำอัดลม) กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช กะทิสำเร็จรูป มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) น้ำพริกแกง) และกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาล (ขนมหวาน น้ำตาลมะพร้าว)
อย่างไรก็ตาม มีสินค้าหลายรายการที่ราคาลดลง โดยเฉพาะไข่ไก่ ผักสด (มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ต้นหอม ถั่วฝักยาว ขิง มะนาว) ผลไม้สด (ทุเรียน ส้มเขียวหวาน มะม่วง แตงโม องุ่น) ไก่ย่าง และอาหารโทรสั่ง (Delivery) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้น 1.06 % ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนพ.ค.2568 ที่สูงขึ้น 1.09%

ทั้งนี้ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนมิ.ย. 2568 เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค. 2568 สูงขึ้น 0.02% ตามการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 0.07 % จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญกลุ่มผักสด เช่น ผักชี ต้นหอม ผักคะน้า พริกสด ผักกาดขาว เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลให้ผลผลิตเสียหายและออกสู่ตลาดลดลง
ขณะที่ความต้องการบริโภคยังมีอย่างต่อเนื่อง กลุ่มอาหารสำเร็จรูป กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว ข้าวราดแกง กะทิสำเร็จรูป และกาแฟผงสำเร็จรูป ตามต้นทุนราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม มีสินค้าที่ราคาปรับลดลง อาทิ ผลไม้สด (ทุเรียน เงาะ มังคุด ส้มเขียวหวาน แก้วมังกร) จากปัจจัยฤดูกาลที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก รวมถึงน้ำมันพืช ข้าวสารเจ้า และกระเทียม ราคาปรับลดลงเช่นกัน สำหรับหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม

ดัชนีราคาผู้บริโภคไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีสินค้าสำคัญที่ราคาปรับสูงขึ้น อาทิ แก๊สโซฮอล์ ค่าเช่าบ้าน และของใช้ส่วนบุคคลบางชนิด (น้ำยาระงับกลิ่นกาย ครีมนวดผม แชมพู) ขณะที่มีสินค้าที่ราคาปรับลดลง อาทิ สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยาถูพื้น น้ำยาปรับผ้านุ่ม) และของใช้ส่วนบุคคลบางชนิด (โฟมล้างหน้า ยาสีฟัน ผ้าอนามัย น้ำยาบ้วนปาก) และเสื้อยืดบุรุษและสตรี
ทั้งนี้ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ไตรมาสที่ 2 ปี 2568 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2567 ลดลง 0.35% และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ลดลง0.17% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค. – มิ.ย.) ของปี 2568 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 สูงขึ้น 0.37%
ผอ.สนค. กล่าวถึง แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาสที่ 3 ปี 2568 คาดว่าจะอยู่ระดับใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 2 ปี 2568 โดยมีปัจจัยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกต่ำกว่าปีก่อนหน้า เนื่องจากสถานการณ์ในตะวันออกกลางผ่อนคลายลง หลังจากมีการทำข้อตกลงหยุดยิง ซึ่งช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของความขัดแย้ง

ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดค่า Ft งวดเดือนพ.ค. – ส.ค.2568 ลง 17 สตางค์ ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าลดลงเหลือ 3.98 บาทต่อหน่วย รวมถึงฐานราคาผักสดในปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับสูง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ขณะที่ในปี 2568 สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากขึ้น ทำให้ผลผลิตเข้าสู่ระบบมากขึ้น และ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2568 อยู่ระหว่าง0.0 – 1.0 % (ค่ากลาง0.5%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง ทั้งนี้ยืนยันว่าไทยยังไม่เข้าภาวะเงินฝืด
อ่านข่าว:
กังวลภาษีตอบโต้สหรัฐฯ กระทบส่งออกอุตสาหกรรมภาคใต้
ยังไม่ได้ข้อสรุป "พิชัย" รับฟีดแบ็กสหรัฐฯปรับปรุงข้อเสนอ ย้ำจุดยืนวิน-วิน