หลังทางคณะเจรจาของไทยเตรียมยื่นข้อเสนอการเจรจาอัตราภาษีใหม่กับสหรัฐฯ โดยมีการจับตาข้อเสนอที่ว่านี้จะดีมากพอที่จะปิดดีลก่อนวันที่ 9 ก.ค.นี้หรือไม่ หากผลออกมายังไม่สำเร็จ จะส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรม การส่งออกและภาคเกษตรของไทยอย่างไรนั้น
วันนี้ (7 ก.ค.2568) นายวรพล โสคติยานุรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ประเมินข้อเสนอที่ทำส่งกลับไปยังสหรัฐฯ จะทันวันที่ 9 ก.ค.หรือไม่นั้นว่า ทางไทยต้องทำข้อเสนอให้เร็วที่สุด เพราะไทยช้ามากไปแล้ว เนื่องจากขณะนี้มีหลายประเทศที่เจรจาและสำเร็จไปแล้ว โดยเฉพาะเวียดนามประเทศคู่แข่งการค้าที่สำคัญของไทย ซึ่งเวียดนามบรรลุข้อตกลงให้สหรัฐฯ เก็บภาษี 20% สำหรับสินค้าเวียดนาม และ 40% สำหรับสินค้าที่ประเทศอื่นส่งออกผ่านเวียดนาม รวมถึงเปิดตลาดให้กับสหรัฐฯ โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าซึ่งเป็นที่พอใจของสหรัฐพอสมควร เพราะเป้าหมายของสหรัฐฯ คือต้องการแก้ไขขาดดุลของประเทศ และมุ่งสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตในประเทศให้เกิดการย้ายกลับไปลงทุนในประเทศ เพิ่มรายได้จากการขึ้นภาษีและ พยายามฟื้นฟูสร้างความเป็นธรรมในการค้าที่ได้รับผลกระทบมา เป็นการให้ทั้งโลกหันไปคุยกับสหรัฐฯ เพื่อหาข้อสรุปซึ่งทำให้ได้ผลมาก
ทั้งนี้ผลพวงของกำแพงภาษีสหรัฐฯ กระทบไปทั่วโลก ส่งผลให้ประเทศต่างๆ มีการปรับตัว และจะส่งผลกระทบไทยเช่นกัน
ในส่วนของประเทศไทยต้องเตรียมการรับมือไว้ให้ดี ถ้าได้ภาษีน้อยกว่าเวียดนาม ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่มีภาษีหนักที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลายอย่าง
ขณะที่รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ระบุว่า เส้นตายสิ้นสุดการยกเว้นมาตรการกำแพงภาษีที่ใกล้จะมาถึงวันที่ 9 ก.ค.นี้ จะช่วยผลักดันให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ดีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ในการทำข้อตกลงการค้ากับพันธมิตรของสหรัฐฯ พร้อมระบุว่า สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้าต่างๆ ในวันที่ 1 ส.ค.ที่จะถึงนี้ หากคู่ค้าเหล่านั้นไม่บรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ โดยอัตราภาษีอาจจะย้อนกลับไปสู่ระดับที่สูงมากที่ผู้นำสหรัฐฯ เคยได้ประกาศไว้เมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
นายวรพล ยังระบุว่าประเทศไทยควรจะกลับมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งจะหวังพึ่งพาต่างประเทศอย่างเดียวคงไม่ได้ ไทยต้องมีความเข้มแข็งในธุรกิจ ในอุตสาหกรรม ต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจให้ไปสู่อุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นมีความต้องการของตลาดโลก หรืออุตสาหกรรมอนาคตที่กำลังจะเข้ามา
นอกจากนี้ไทยต้องมีวิธีการจัดการอุตสาหกรรม ต้องมีการปรับปรุงในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนที่ถูกต้อง รวมถึงกติกา กฎเกณฑ์ให้เกิดประโยชน์กับไทย และป้องกันการสวมสิทธิ์ ป้องกันการใช้ถิ่นกำเนิดของทรัพย์สิน แหล่งผลิตทรัพย์สิน ถิ่นกำเนิดสินค้า และการวางระบบไกกลตรวจสอบ เพื่อให้สหรัฐฯ ได้เห็น ช่วยให้มีความมั่นใจในระยะยาวและช่วยให้สินค้าของไทยมีมูลค่าเพิ่ม
อีกประเด็นสำคัญคือไทยต้องรีบเตรียมการพัฒนาบุคลากร เสริมทักษะ ซึ่งต้องรับว่าจุดอ่อนที่ทำให้ไทยล้าหลังใน 10 ปีมานี้ ไม่มีอุตสาหกรรมใหม่ๆ เข้ามาตั้งฐานผลิตร่วมลงทุนกับไทย หรือใช้วิธีศูนย์เหรียญเป็นหลัก สาเหตุหลักคือไม่มีคุณภาพทักษะ ด้านบุคลากรเพียงพอ
สิ่งที่ไปคุยมา ถือว่าเป็นความก้าวหน้าระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ยังถือว่าทุกอย่างยังรออยู่ และทุกอย่างจะชี้ขาดและเห็นผลในสัปดาห์นี้
อ่านข่าว :
กังวลภาษีตอบโต้สหรัฐฯ กระทบส่งออกอุตสาหกรรมภาคใต้
ยังไม่ได้ข้อสรุป "พิชัย" รับฟีดแบ็กสหรัฐฯปรับปรุงข้อเสนอ ย้ำจุดยืนวิน-วิน