ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มองมหาอำนาจ "สหรัฐอเมริกา" ใช้อะไรกดดันต่างชาติ ?

ต่างประเทศ
19:46
225
มองมหาอำนาจ "สหรัฐอเมริกา" ใช้อะไรกดดันต่างชาติ ?
นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัย 2 กำแพงภาษีกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของสหรัฐฯ ในการกดดันต่างชาติ ตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจการค้าไปจนถึงความมั่นคง แต่แท้จริงแล้วสหรัฐฯ มีเครื่องมือกดดันต่างชาติมากกว่าเรื่องกำแพงภาษี

ในระยะหลังๆ สหรัฐฯ และหลายประเทศเริ่มเปิดเงื่อนไขและข้อแลกเปลี่ยนเจรจาการค้าออกมาให้เห็นเรื่อยๆ ถือเป็นการย้ำถึงการใช้มาตรการแข็งกร้าวของรัฐบาลทรัมป์ เพื่อกดดันให้ประเทศต่างๆ ยอมทำตาม รวมถึงการขู่ให้รัสเซียจบสงครามยูเครนภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือน

ทรัมป์เปิดใจกับสำนักข่าว BBC เมื่อวันที่ 15 ก.ต.ตามเวลาท้องถิ่น ว่า เขารู้สึกผิดหวังในตัวผู้นำรัสเซีย แต่ยังไม่ถึงขั้นเอือมระอาจนไม่คุยด้วย หลังจากผู้นำสหรัฐฯ ยกระดับกดดันรัสเซียผ่านการประกาศส่งอาวุธให้ยูเครนและขู่ตั้งกำแพงภาษีกับใครก็ตามที่ซื้อสินค้ารัสเซีย หากรัสเซียไม่ยอมเห็นชอบในข้อตกลงสันติภาพภายใน 50 วัน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งใหญ่ของรัฐบาลทรัมป์

ด้านโฆษกรัฐบาลรัสเซีย ระบุว่า คำพูดดังกล่าวรุนแรง แต่ขอเวลาวิเคราะห์สิ่งที่ผู้นำสหรัฐฯ พูดก่อนจึงจะให้ความเห็นได้ พร้อมทั้งแสดงความพร้อมที่จะเปิดการเจรจากับยูเครนรอบใหม่ 

ความพยายามในการยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ทรัมป์งัดหลายมาตรการ ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็งมาใช้ในการจัดการกับปัญหานี้ แต่ดูจะไม่ได้ผลเท่าไหร่นัก

เครื่องมือกดดันต่างชาติอาจแบ่งได้ 3 ข้อหลักๆ คือ เครื่องมือทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การใช้มาตรการคว่ำบาตร ตั้งกำแพงภาษีและข้อจำกัดทางการค้า ไปจนถึงการจำกัดการลงทุน ซึ่งกำแพงภาษีถือเป็นมาตรการกดดันยืนหนึ่งของทรัมป์ ทั้งใช้กดดันเม็กซิโกและแคนาดาให้จัดการผู้อพยพ กดดันจีนเรื่องยาเฟนทานิล และกดดันบราซิลเพื่อช่วยจาอีร์ โบลโซนาโร อดีตประธานาธิบดีบราซิลที่เป็นพันธมิตรกับทรัมป์

ขณะที่เครื่องมือทางการทูตอาจมองได้ว่าเป็นไม้อ่อนในการกล่อมประเทศต่างๆ เช่น การสนับสนุนความช่วยเหลือ การทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนและยกระดับความสัมพันธ์ ซึ่งเคยเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสอดแทรกอิทธิพลของสหรัฐฯ แต่ในยุคทรัมป์ 2.0 มาตรการเหล่านี้ถูกด้อยค่าและสร้างช่องว่างให้จีนแผ่ขยายอิทธิพลเข้าไปแทนที่สหรัฐฯ หลังทรัมป์สั่งยุบโครงการช่วยเหลือต่างชาติ

ส่วนเครื่องมือทางทหาร ครอบคลุมตั้งแต่แสนยานุภาพของกองทัพ การสนับสนุนความช่วยเหลือทางทหารและการตกลงจะขายหรือไม่ขายอาวุธให้

ในฐานะที่เป็นมหาอำนาจในทุกๆ ด้าน สหรัฐฯ จึงมีเครื่องมือหลากหลายที่สามารถใช้กดดันประเทศต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถใช้หลายเครื่องมือไปพร้อมๆ กันได้ แต่รัฐบาลทรัมป์ 2.0 ยังยึดหลักการสร้างสันติภาพผ่านความแข็งแกร่งและลดบทบาทความร่วมมือพหุภาคี ซึ่งทำให้มาตรการที่สหรัฐฯ ใช้ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเป็นไปอย่างแข็งกร้าวและข่มขู่คุกคาม แม้กระทั่งกับพันธมิตร

ทรัมป์ ยังคงเชื่อว่าความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการทหารของสหรัฐฯ เป็นกุญแจในการสร้างสันติภาพและรักษาผลประโยชน์อเมริกัน รวมทั้งยังมีอำนาจสกัดอิทธิพลคู่แข่งสำคัญอย่างจีน

ปัจจุบัน กองทัพอเมริกันมีฐานทัพประมาณ 750 แห่งในอย่างน้อย 80 ประเทศ ขณะที่ในบางพื้นที่ แม้สหรัฐฯ จะไม่มีฐานทัพ แต่กองทัพยังส่งกำลังพลไปประจำการอยู่ในเกือบทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งจะเป็นในลักษณะขอใช้พื้นที่

ข้อมูลจาก USAFacts ซึ่งเป็นหน่วยงานเก็บสถิติรัฐบาลสหรัฐฯ ชี้ว่าขณะนี้มีทหารอเมริกันประจำการนอกประเทศมากกว่า 177,000 นาย ในจำนวนนี้อยู่ในญี่ปุ่นมากกว่า 52,000 นาย หรือคิดเป็นกว่า 1 ใน 4 ของกำลังพลทั้งหมดนอกสหรัฐฯ ตามมาด้วยเยอรมนี เกาหลีใต้ อิตาลีและอังกฤษ โดยตัวเลข 3 อันดับแรกรวมกันคิดเป็น 70% ของทั้งหมด ซึ่งตัวเลขที่เห็นเป็นทหารประจำการและอาจไม่ได้นับรวมกำลังพลที่ถูกส่งมาทำภารกิจต่างๆ

สหรัฐฯ จัดวางกำลังพลส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปและเอเชีย-แปซิฟิก โดยด้านหนึ่งสะท้อนถึงนโยบายในการสกัดกั้นรัสเซียและจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ดูจะแข็งกร้าวกับจีนมากเป็นพิเศษ

ยกตัวอย่างพื้นที่ยุทธศาสตร์ในทะเลจีนใต้ โดยการซ้อมรบร่วม "บาลิกาตัน 2025" ระหว่างสหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์ เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกที่มีการซ้อมรบจำลองสถานการณ์ป้องกันการโจมตีทางอากาศและขีปนาวุธแบบผสมผสาน รวมทั้งใช้อาวุธทันสมัยและระบบขีปนาวุธต่อต้านเรือ

จุดนี้ชี้ว่าสหรัฐฯ มีแนวทางในการรับมือกับจีนที่แข็งกร้าวมากขึ้นจากในสมัยทรัมป์ 1.0 และเดินเกมยุทธศาสตร์ป้องปรามจีนอย่างชัดเจน นอกจากนี้รัฐบาลทรัมป์ยังใช้มาตรการอื่นๆ กดดันให้ประเทศต่างๆ เลือกข้างด้วย

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวว่ากระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กดดันญี่ปุ่นและออสเตรเลียในหลายวงประชุม เพื่อให้ทั้ง 2 ประเทศบอกจุดยืนที่ชัดเจนหากเกิดสงครามขึ้นในไต้หวัน และย้ำถึงการป้องปรามผ่านการยกระดับขีดความสามารถด้านกลาโหม แม้ว่าทรัมป์ยังคงให้ความสำคัญกับความแข็งแกร่ง ซึ่งสามารถเอาชนะได้ทุกอย่าง แต่ในโลกที่สหรัฐฯ ไม่ใช่มหาอำนาจหนึ่งเดียว ความแข็งกร้าวอาจกลายเป็นดาบสองคม

อ่านข่าว

"ทรัมป์" ส่งสัญญาณไม่สะบั้นสัมพันธ์ "ปูติน"

อ่านเกม "ทรัมป์" หลังอินโดนีเซียปิดดีลกำแพงภาษี 19%

จีนเบนเข็มส่งออกอาเซียน GDP โต 5.2% แม้เผชิญสงครามการค้า