กนช.ให้ส่วนราชการเริ่มประหยัดน้ำร้อยละ 10

สังคม
23 ก.ค. 58
04:13
107
Logo Thai PBS
กนช.ให้ส่วนราชการเริ่มประหยัดน้ำร้อยละ 10

กรมส่งเสริมการเกษตรเตรียมเสนอการปลูกพืชใช้น้ำน้อยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ที่ประชุม ครม.สัปดาห์หน้า ขณะที่ผลการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) นัดแรก เมื่อวานนี้ (22 ก.ค.2558) คือการจัดตั้งอนุกรรมการขึ้น 2 ชุด เพื่อการบริหารจัดการน้ำในทุกภาคส่วนอย่างครอบคลุมทั้งระบบและเห็นควรให้ส่วนราชการเริ่มมาตรการประหยัดน้ำให้ได้ร้อยละ 10

การประชุม กนช.นัดแรก เมื่อวานนี้ ได้รับมอบยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำของประเทศ ระหว่างปี 2558 - 2569 เพื่อดำเนินการแล้ว และเห็นควรวางมาตรการการใช้ทรัพยากรน้ำที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะความเท่าเทียมเสมอภาค ระหว่างคนเมืองกับคนชนบท และระหว่างภาคเกษตรกับภาคอุตสาหกรรม โดยที่ประชุม กนช.เห็นควรกำชับให้ส่วนราชการเริ่มมาตรการประหยัดน้ำให้ได้ร้อยละ 10 และเห็นควรจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 2 ชุด เพื่อบูรณาการการทำงานให้สอดคล้องกันและครอบคลุมการใช้น้ำในทุกส่วน
 
ขณะที่นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขาคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากนี้ไปยังเร่งศึกษาและพิจารณาแนวโน้มในทางปฏิบัติ 4 แนวทาง คือการดำเนินการดึงน้ำจากฝั่งตะวันตก มาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคมากขึ้น การบริหารจัดการน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา การหาแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่ม การศึกษาปริมาณน้ำก้นเขื่อน โดยเฉพาะเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนภูมิพลที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกัน 7,500 ล้านลูกบาศก์เมตรว่าจะนำมาใช้ได้หรือไม่
 
สำหรับยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำของประเทศ เบื้องต้นนั้นมีสาระสำคัญ คือการเพิ่มพื้นที่การใช้น้ำ เพื่ออุปโภคบริโภคอีก 7,000 หมู่บ้าน, เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำทั้งระยะสั้น กลางและยาว โดยเน้นการจัดหาน้ำต้นทุน เพื่อเติมในเขื่อนหลัก ส่วนการเยียวยาภาคการเกษตรอยู่ระหว่างการสำรวจของกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น ในการประชุมเมื่อวานนี้ จึงยังไม่พูดถึงเรื่องเงินเยียวยาแต่อย่างใด
 
ด้านนายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการส่งเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับกรมชลประทาน เพื่อตรวจเยี่ยมและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงในการจัดลำดับความสำคัญแก้ปัญหาภัยแล้งใน 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยมีมาตรการรองรับ 3 มาตรการ 1. ตั้งศูนย์ช่วยเกษตรกรระดับตำบล และระดับจังหวัด 2. ปรับโครงสร้างข้าวในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องน้ำ 3. สร้างมั่นคงทางอาหารให้ชุมชนพื้นที่ทั่วประเทศ 877 จุด เบื้องต้น กรมชลประทานเข้าไปสำรวจพื้นที่เพื่อจำกัดการให้น้ำ โดยแยกว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยงมาก ปานกลาง และน้อย หรือไม่เสี่ยงเลย ซึ่งเป็นการมุ่งไปช่วยปัญหาเรื่องน้ำและเกษตรกร ขณะที่ทางเกษตรกรมีสิทธิ์ที่จะแจ้งเหตุว่ามีความเดือดร้อนอย่างไร และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงปฏิบัติได้ทันทีภายใน 48 ชั่วโมง รวมทั้งส่งทีมที่เกี่ยวข้องลงไปด้วย
 
ส่วนความคืบหน้าข้อเรียกร้องในการขอความช่วยเหลือทั้งหมดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 106 เรื่อง มีเรื่องเร่งด่วน 10 เรื่อง และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่เกษตรกรส่วนใหญ่ร้องเรียนเป็นเรื่องน้ำ เช่น ขาดน้ำ ประสานไม่ได้ ข้าวมีอาการไม่ดี ในส่วนนี้จะมีหน่วยงานเข้าไปช่วย และมีหลายจุดที่แก้ปัญหาโดยดึงน้ำจากบ่อทราย ดึงน้ำจากบ่อข้างเคียงมาช่วยเกษตรกร นอกจากนี้ เกษตรกรร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อนเรื่องหนี้สิน คือการชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย ส่วนหนึ่งมาจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) บางส่วนมาจากสหกรณ์ ขณะที่การเยียวยา เบื้่องต้น จากการจำแนกไว้ในการสำรวจพื้นที่ ซึ่งได้รับความเสียหายยังมีไม่มาก ทั้งลุ่มน้ำมีอยู่ประมาณ 60,000 ไร่
 
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรเตรียมนำเสนอเรื่องการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเข้าสู่การประชุม ครม.สัปดาห์หน้า โดยจะเสนอเรื่องปรับโครงการทำการเกษตรในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะเน้นให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือพืชที่ใช้น้ำน้อย และการทำเกษตรทางเลือก ซึ่งหากข้อเสนอนี้ผ่านมติ ครม.ก็จะเร่งดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรทันที เนื่องจากการปลูกข้าวต่อเนื่อง หรือใช้น้ำมากไม่สามารถทำได้ จึงต้องลดทำนาปรัง หรือชะลอการทำนาปรัง นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งที่หันมาเน้นการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เพราะว่าข้าวใช้น้ำประมาณ 1,200 ลูกบาศก์เมตร ขณะที่พืชอื่นใช้น้ำเพียง 500 - 600 ลูกบาศก์เมตร 
 
นายโอฬาร กล่าวอีกว่า โครงการปลูกพืชน้ำน้อยจะมีการดำเนินงานให้เกษตรกรวางใจ โดยจะทำลักษณะแปลงใหญ่ และจะสนับสนุนเกษตรกรในด้านสินเชื่อ โดยภาครัฐจะช่วยเรื่องดอกเบี้ยที่ขอจากทางราชการ เพื่อช่วยให้เกษตรกรใช้เงินทุนน้อยที่สุด ส่วนอีกทางหนึ่งคือจะส่งเสริมให้ใช้เกษตรทางเลือกเป็นไร่นาแบบผสม เกษตรกรที่มีไร่นาไม่เกิน 20 ไร่ สามารถแบ่งพื้นที่ส่วนมาทำไร่นาแบบผสม 3 - 5 ไร่ สามารถมีรายได้ที่ครอบคลุมพื้นที่นาทั้งหมดได้ และจะใช้น้ำน้อยลงมาก หากทำแบบนี้ได้ประมาณน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะไม่ขาดแคลน
 
สำหรับศูนย์ช่วยเหลือเกษตรกรประจำตำบลมีการเปิดรับเรื่องให้เกษตรกรร้องเรียนปัญหาได้ตลอดเวลา โดยสามารถร้องเรียนได้ที่ทางตำบล หรือเข้ามาที่เว็บไซต์ หรือเฟซบุ๊คก็ได้เช่นกัน ที่ผ่านมา มีร้องเรียนเข้ามาวันละประมาณ 100 เรื่อง เมื่อมีการร้องเรียนเข้ามาจะส่งเจ้าหน้าที่ออกไปช่วยทันที และรายงานให้ผู้บริหารรับทราบทุกวันว่าตอบสนองแค่ไหน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง