กทม.-สโมสรตำรวจใช้น้ำทิ้งบำบัดรดต้นไม้ ช่วยประหยัดน้ำวันละ 100,000 ลิตร

สังคม
27 ก.ค. 58
05:53
738
Logo Thai PBS
กทม.-สโมสรตำรวจใช้น้ำทิ้งบำบัดรดต้นไม้ ช่วยประหยัดน้ำวันละ 100,000 ลิตร

กทม.และสโมสรตำรวจรับลูก กนช.เริ่มมาตรการประหยัดน้ำร้อยละ 10 ใช้น้ำจากบ่อบำบัดน้ำเสียรดน้ำต้นไม้ กทม.เผยลดการใช้น้ำได้ร้อยละ 20 หรือวันละ 100,000 ลิตรเป็นอย่างน้อย ขณะที่ กปน.ระบุ สัดส่วนใช้น้ำภาคครัวเรือนมากสุดร้อยละ 49 ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 32 ส่วนหน่วยงานราชการร้อยละ 19

จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) สั่งการให้หน่วยราชการทั่วประเทศ ประหยัดน้ำให้ได้ร้อยละ 10 โดยมอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำดำเนินการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน ซึ่งหลายหน่วยงานเริ่มดำเนินการตามมาตรการนั้น

วันนี้ (27 ก.ค. 2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กทม.เป็นหน่วยงานหนึ่งที่เริ่มประหยัดน้ำตามคำสั่งของนายกฯ โดยเลือกใช้มาตรการการนำกลับมาใช้ใหม่ นำน้ำที่ได้จากบ่อบำบัดน้ำเสียทั้ง 8 แห่ง ใช้รถน้ำต้นไม้ทั่วเขต กทม. ซึ่งจากเดิมต้องใช้น้ำวันละ 1 แสนลิตร เป็นค่าน้ำเฉลี่ยวันละ 1,300 บาท นอกจากนี้ยังลดปริมาณการใช้น้ำของหน่วยงานให้น้อยลง ซึ่งพบว่าวิธีดังกล่าวสามารถลดปริมาณการใช้ได้ถึงร้อยละ 20

ด้าน สโมสรตำรวจ ถ.วิภาวดี เริ่มใช้น้ำจากบ่อน้ำทิ้งใช้รดน้ำต้นไม้ โดยรองผู้กำกับฝ่ายสโมสรและสันทนาการ สโมสรตำรวจ ระบุว่า ไม่ได้ใช้น้ำประปารดน้ำต้นไม้ในพื้นที่ 6 ไร่ นาน 6 เดือนแล้ว นอกจากนี้ ยังรณรงค์ให้ทุกคนหรือผู้มาใช้บริการที่สโมรสรใช้น้ำอย่างคุ้มค่า

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มว่า ส่วนกรมทรัพยากรน้ำได้เสนอ 3 มาตรการประหยัดน้ำ ประกอบด้วย 1.มาตรการลดการสูญเสีย โดยให้แต่ละหน่วยงานสำรวจและซ่อมแซมระบบประปาที่ชำรุดหรือเสียหาย ไม่เปิดน้ำทิ้งโดยเปล่าประโยชน์หรือเปิดน้ำแรงเกินไป 2.มาตรการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการลดการใช้น้ำหรือใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ 3.มาตรการส่งเสริมความร่วมมือ ผ่านการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ และขอความร่วมมือในการปฏิบัติทั้งที่บ้านและที่ทำงาน

ขณะที่ จากข้อมูลของการประปานครหลวง (กปน.) แบ่งการใช้น้ำในเขต กทม.และปริมณฑลออกเป็น 2 ส่วนคือ ภาคครัวเรือนใช้น้ำร้อยละ 49 ภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ และส่วนราชการใช้น้ำรวมร้อยละ 51 ในจำนวนนี้พบว่าส่วนราชการใช้น้ำถึงร้อยละ 19

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า หลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำการเก็บสถิติและรายงานผลการประหยัดน้ำ เพื่อสะท้อนตัวเลขปริมาณน้ำว่าลดลงได้จริงหรือไม่ ซึ่งหากทุกส่วนราชการนำไปปฏิบัติจริง คาดว่าจะส่งผลดีต่อสถานการณ์น้ำในอนาคต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง