จาก “ภาษีเฉพาะ (Earmarked Tax) ” ถึง “การคลังเพื่อสังคม” กับคำถามเรื่องวินัยทางการคลังองค์กรอิสระ

7 ส.ค. 58
17:06
610
Logo Thai PBS
จาก “ภาษีเฉพาะ (Earmarked Tax) ” ถึง “การคลังเพื่อสังคม” กับคำถามเรื่องวินัยทางการคลังองค์กรอิสระ

เป็นประเด็นร้อนที่ทุกฝ่ายในสังคมให้ความสนใจ ถึงทิศทางการจัดสรรงบประมาณในอนาคตให้กับ 3 องค์กรอิสระ อย่าง ไทยพีบีเอส สสส. และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ว่าจะมีผลกระทบต่อการบริหารและภารกิจเพื่อสังคมที่บัญญัติไว้หรือไม่ นักวิชาการและภาคประชาสังคมได้แสดงทัศนะถึงความจำเป็นของการมีกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะสำหรับองค์กรอิสระ ในงานเสวนา “รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 กับการคลังเพื่อสังคม”

หลัง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เสนอหนังสือถึงกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้แก้ไข รัฐธรรมนูญ มาตรา 204 เพื่อยกเลิกการจ่ายเงินภาษีโดยตรงให้กับ 3 องค์กรในข้างต้น และให้กลับมาใช้วงเงินงบประมาณแทน ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 และบทเฉพาะกาล มาตรา 281 ระบุให้ ยกเลิกและจัดสรรภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax) ซึ่งเป็นที่มาของงบประมาณในการบริหารงานของ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ด้วยเห็นว่าการใช้จ่าย ก่อหนี้ และภาระผูกพันขององค์กรอิสระในข้างต้นไม่คุ้มค่า ไม่โปร่งใส และกระทบกับวินัยทางการคลัง จนเป็นที่มาของกระแสคัดค้านเพราะไม่เห็นด้วยจากหลายภาคส่วนในสังคม ไม่เว้นแม้แต่สมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.) ส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้กำหนดรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ในเวทีเสวนา “รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 กับการคลังเพื่อสังคม” ที่ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมกับ เครือข่ายภาคประชาสังคม จัดขึ้น ณ อาคารอาสาสมัครเพื่อสังคม กทม. ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมแสดงทัศนะถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีการคลังเพื่อสังคม

ศ.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้มาจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ดังนั้น จำเป็นที่ต้องอธิบายให้กระทรวง ทบวง กรม หรือสังคมทราบว่า ส.ส.ท. สสส. และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ไม่ใช่อภิสิทธิ์ชนที่นำเงินภาษีมาใช้อย่างอิสระ เพราะมีคณะกรรมการตรวจสอบ ทั้งคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินภายในที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)

“ที่จริงรูปของการจัดสรรภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะหรือการคลังเพื่อสังคมมีมานาน และทำกันมากให้สหรัฐฯ ซึ่งมีกว่า 10,000 กองทุน รวมถึงประเทศในยุโรป เพื่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนสังคมอย่างแท้จริง โดยไม่ถูกครองงำด้วยการเมืองหรืออำนาจอื่น ยกตัวอย่างเช่นในประเทศอังกฤษที่เก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะและนำมาสนับสนุนสถานีโทรทัศน์บีบีซี ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากจนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก” นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จากนิด้ากล่าว

ศ.ดิเรกกล่าวอีกว่า ข้อต่อมาที่ต้องสร้างความกระจ่างก็คือ การนำภาษีสรรพสามิตรหรือภาษีบาปจากเหล้าและบุหรี่ร้อยละ 3.5 มาให้ 3 องค์กรสาธารณประโยชน์ ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายในระดับมหภาค หรือกระทบต่อวินัยทางการคลังของของภาษีบาป 2.7 พันล้านบาท หรือภาษีของประเทศ 2 ล้านล้านบาท เพราะภาษีบาปเป็นการเก็บเพิ่ม ไม่ได้ขอแบ่งจากกระทรวงการคลังมาสนับสนุนการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน แต่ในอีกด้านหนึ่งทั้ง 3 องค์กรต้องพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่าเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาล และนำงบประมาณที่ได้ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองต่อปัญหาของประเทศ ไม่ฟุ่มเฟือยหรือทำนุบำรุงคนกันเอง

“การเขียนกฎหมายที่ผ่านมามักระบุให้รัฐจัดสรรงบประมาณแบบแนวตั้งแก่กระทรวงและกรม ทำให้ชาวบ้านเข้าไม่ถึงประโยชน์จากเม็ดเงินอย่างแท้จริง ส่วนตัวคิดว่าเราจำเป็นต้องมีกองทุนองค์กรสาธารณประโยชน์ มีการคลังเพื่อสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ โดยอาจกันภาษีร้อยละ 5-10 มอบให้ภาคประชาชนและสังคมเข้ามาทำงานแทนรัฐ” นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จากนิด้าแนะนำเพิ่ม

ด้าน นายไพโรจน์ พลเพชร อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฏหมาย (คปก.) กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อสังคมอยู่แล้ว เช่น กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม กองทุนผู้สูงอายุ กองทุนเพื่อผู้พิการ แต่ต้องยอมรับว่าภาระกิจของประเทศหลายอย่างรัฐไม่สามารถจัดการได้ เหตุหนึ่งเพราะหน่วยงานของรัฐมีไม่เพียงพอต่อการจัดการ จึงต้องมีหน่วยงานหรือองค์กรอิสระเข้ามาดำเนินการโดยใช้กฎหมายเฉพาะ และต้องไม่รับงบประมาณผ่านระบบของรัฐ เพราะจะส่งผลต่อความคล่องตัวขององค์กร และอาจถูกแทรกแซงการทำงาน อย่างไรก็ดี อยากให้คลี่ให้เห็นว่าสิ่งที่องค์กรอิสระเหล่านี้ทำอยู่ก็เป็นภาระกิจโดยรวมเหมือนที่ภาครัฐทำ

“เรากำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อปฏิรูปประเทศและสร้างความเท่าเทียมให้สังคม และองค์กรสาธารณประโยชน์ที่เป็นอิสระก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อน ถ้ารัฐหรือสังคมห่วงใยในเรื่องธรรมาภิบาลขององค์กรสาธารณประโยชน์ก็ควรแก้ที่จุดนั้น ไม่ใช่ว่ามาแก้มาตัดกฎหมายทิ้งทั้งหมด ซึ่งเป็นการปิดทางและอย่าลืมว่าหากเขียนลงไปในรัฐธรรมนูญแล้วแก้ไขได้ยาก นอกจากนี้พูดว่าจะตัดงบทิ้งแต่ไม่เคยกล่าวถึงเรี่องการจัดหารายได้ว่าจะมาจากช่องทางไหน” อดีต คปก. ทิ้งท้ายให้คิด

ขณะที่ นายศรีสุวรรณ ควรขจร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) แสดงทัศนะเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า หากกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดให้ยกเลิก หรือแก้ไขภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ ซึ่งตอบโจทย์ในการใช้เพื่อสนับสนุนองค์กรอิสระเพื่อสังคม เช่น กองทุน สสส. สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และกองทุนพัฒนาการกีฬา และโยกกลับไปให้ภาครัฐดูแล นอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาในสังคมได้ ยังเป็นการปิดทางการทำงานของหน่วยงานภาคประชาชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

“ที่ผ่านมาประเทศถูกำหนดบทบาทโดยนักการเมืองและข้าราชการ แต่ประชาชนหรือสาธารณะไม่เคยเข้าถึง ดังนั้น ต้องระวังว่าหากมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านเป็นกฎหมาย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นเช่นเดิม ตรงกันข้ามกับปัจจุบันที่มีองค์กรสาธารณประโยชน์คอยช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และผมไม่เชื่อว่ารัฐ ข้าราชการ และนักการเมือง จะรักษาธรรมภิบาลในการจัดสรรงบเพื่อสังคมได้” ประธาน กป.อพช.ระบุ
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง