“รอยเปื้อน”ชนะเลิศหนังสั้น เทศกาลฉลอง “พุทธชยันตี”

Logo Thai PBS
 “รอยเปื้อน”ชนะเลิศหนังสั้น เทศกาลฉลอง “พุทธชยันตี”

“รอยเปื้อน” หนังสั้นชนะเลิศจากเทศกาลพุทธลีลากรุงเทพ 2555 ฝีมือ “เด็กครุศาสตร์อุตสาหกรรมฯ มจธ. หนังดีที่สอนให้รู้ว่ารอยความผิดในใจมนุษย์ลบไม่ได้ แต่เรียนรู้ที่จะอยู่กับมันได้

  “รอยเปื้อน” หนังสั้นผลงานของทีม นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชามีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ จากโครงการร่วมบริหารหลักสูตรมีเดียอาตส์และเทคโนโลยีมีเดีย คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่คว้ารางวัลชนะเลิศร่วมกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยหอการค้า จากการประกวดหนังสั้นในเทศกาลพุทธลีลากรุงเทพฯ  2555 เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 2600 ปี “พุทธชยันตี” จัดโดยหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ และธรรมภาคี เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 

 
นายนุกูล  คำเลิศ หรือ กูล ผู้กำกับบอกว่า “รอยเปื้อน” เป็นการอุปมาถึงรอยด่างในชีวิตของคนๆ หนึ่งที่เคยทำผิดมา ฉากของตัวละครเกิดขึ้นระหว่างลงมือขยี้ผ้าที่เปรอะเปื้อน และย้อนนึกถึงเรื่องในอดีตที่เคยทำผิดมา เหมือนมีรอยด่างในจิตใจ แต่สุดท้ายในตอนจบของเรื่องนี้ ตัวละครกลับได้เรียนรู้ด้วยตัวเองว่าเขาไม่สามารถจะลบรอยด่างในจิตใจนั้นออกได้ แต่เค้าก็พร้อมที่จะเรียนรู้ไปกับมัน และใช้ชีวิตอยู่กับมันได้
 
แต่ก่อนที่จะมาเป็นหนังสั้นรางวัลชนะเลิศนี้ เด็กในทีมทั้ง 4 คนคือ กูล นัท กิ๊ก และปิ่งปิ๊ง บทละครของพวกเขาจะต้องมีเนื้อหาโดนใจกรรมการ กระทั่งผ่านเข้ารอบ 13 ทีม เพื่อเข้าสู่กระบวนการเวิร์ค   ช็อปเรียนรู้การถ่ายทำภาพยนตร์จริงจากผู้กำกับฝีมือดีของเมืองไทย เช่น  พี่มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุลและพี่ต้น นิธิวัฒน์ ธราธร โดยใช้เวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่การเขียนบท การถ่ายทำ การใช้กล้อง และการตัดต่อ ซึ่งนัทยังมีหน้าที่เป็นคนถ่ายทำ และตัดต่อประจำทีมอีกด้วย 
 
นางสาวทิพย์สุดา สุนินทบูรณ์ หรือ ปิ่งปิ๊ง ในฐานะโปรดิวเซอร์ ของทีมเล่าว่า หลังจากที่ไปทำเวิร์คช็อปมา 2 เดือนก็ถึงเวลาที่พี่ๆ ปล่อยให้ลงพื้นที่เพื่อไปถ่ายทำภาพยนตร์กันจริงๆ ด้วยตัวเองโดยใช้ความรู้ที่เพิ่งผ่านการทำเวิร์คช็อปมาแบบร้อนๆ โดยโจทย์ปัญหาหลักของงานนี้ที่ทุกทีมได้รับคือ รู้ ตื่น เบิกบาน ท่ามกลางมายา หรืออาจตีความว่า ว่าง ท่ามกลางความวุ่น ซึ่งเพื่อนในทีมทุกคนได้ร่วมกันตีโจทย์ออกมาและได้ผลลัพธ์เป็นภาพยนตร์สั้นเรื่อง “รอยเปื้อน”  
 
และ นางสาวสุธินี  ใจวงษ์ หรือ กิ๊ก สมาชิกอีกคนในทีมซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนทุกส่วนงานของทีมเล่าถึงประสบการณ์ระหว่างการถ่ายทำว่าตัวนักแสดงในเรื่องใช้เพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกันในห้องและยังได้รับการสนับสนุนจากคุณพ่อของเพื่อนมาร่วมแสดง และช่วยในการขนย้ายอุปกรณ์การถ่ายทำซึ่งทำให้การเดินทางไม่เป็นอุปสรรค รวมไปถึงเสื้อผ้าของนักแสดง เช่น ชุดตำรวจที่มีญาติๆ ของเพื่อนนักแสดงนำมาสมทบด้วย ส่วนฉากในเรื่องต้องใช้อู่ซ่อมรถเป็นบ้านของตัวละคร จึงต้องช่วยกันเดินหาอู่ที่อยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยอยู่หลายวันเพื่อให้สะดวกในการถ่ายทำ 
 
“ฉากที่ใช้ในการถ่ายทำนอกจากจะใช้อู่ซ่อมรถแล้ว ยังมีฉากในสถานีตำรวจด้วยซึ่งพวกเราได้รับการสนับสนุน และบริการเป็นอย่างดีจากพวกพี่ๆ ตำรวจใน สน.ทุ่งครุ แต่มีฉากสำคัญที่ต้องใช้ถ่ายทำบทบู๊ของเรื่องซึ่งต้องไปถ่ายทำกันที่ตึกร้าง ซึ่งมีผู้ใหญ่เตือนว่าเวลาไปที่นั่นให้ไปกันหลายๆ คนเพราะอาจเกิดอันตรายจากแก๊งวัยรุ่นที่ชอบแอบไปเสพยาที่นั่นได้ จึงนับว่าฉากที่ตึกร้างเป็นช่วงของการถ่ายทำที่น่ากลัวที่สุดในการทำหนังเรื่องนี้เลย”
 
นางสาวกัลยา สาระพรต หรือ นัท กล่าวเพิ่มเติมว่าใช้เวลาในการถ่ายทำทั้งหมด 1 เดือนแต่เวลาที่ลงสถานที่ถ่ายทำจริงใช้เวลาเพียง 4-5 วันเท่านั้น ส่วนเวลาที่เหลือต้องทำการตัดต่อซึ่งเนื่องจากงานนี้เป็นงานแรกจึงใช้เวลานาน  แต่จริงๆ แล้วการตัดต่อไม่ได้ยากเพียงแต่ต้องใช้ความละเอียดมากเป็นพิเศษ เพราะทุกรายละเอียดที่สื่อออกมามีความหมาย กูล ผู้กำกับของเรื่องกล่าวเสริมว่า หลังจากที่ทำการตัดต่อเรียบร้อยและส่งให้ทางโครงการ พี่ๆ คณะกรรมการจะนำหนังของแต่ละทีมไปปรับในเรื่องภาพ แสง สี เสียง ให้มีคุณภาพมากขึ้นก่อนจะนำหนังสั้นไปฉายในเทศกาลพุทธลีลากรุงเทพ 2555 ที่โรงภาพยนตร์เครือ SFX Central World เมื่อวันที่ 9-10 มิ.ย.55 ที่ผ่านมา และเมื่อฉายครบทั้ง 13 เรื่อง คณะกรรมการจากสมาคมหนังไทย และผู้กำกับชื่อดังของเมืองไทยได้ร่วมกันตัดสินและประกาศรางวัล  
 
ปิ่งปิ๊ง กล่าวถึงความรู้สึกก่อนที่จะส่งผลงานเข้าประกวดว่าไม่คิดว่าจะได้รับคัดเลือกเข้ารอบ 13 ทีม แต่ที่ตัดสินใจส่งผลงานเพียงแค่อยากได้ประสบการณ์การจากการทำหนังจริง และเทคนิคใหม่ๆ เท่านั้น  แต่เมื่อรู้ว่าได้รับรางวัลชนะเลิศแล้วความรู้สึกเปลี่ยนไปทันที จากที่เหมือนเป็นกบในกะลา เมื่อได้มาเรียนรู้แล้ว ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และแรงบันดาลใจที่อยากจะทำผลงานออกมาอีก 
 
“อุปสรรคใหญ่ที่สุดในช่วงที่พวกเรากำลังทำหนังเพื่อส่งประกวดนั้นคือเป็นช่วงที่กำลังสอบ ทำให้ต้องแบ่งเวลาให้ดีที่สุดเพื่อให้มีเวลาที่จะทำผลงานออกมาดี และไม่กระทบต่อผลการเรียน ซึ่งพี่ๆ ผู้กำกับได้ฝากข้อคิดดีๆ ให้พวกเราว่า ถ้าอยากจะทำหนังออกมาให้ดี ต้องทำเพราะว่าสนุก อย่าทำเพราะต้องไปแข่งขันกับใคร ซึ่งจากข้อความนี้ทำให้พวกเรามีพลัง และสามารถผ่านช่วงที่หนักที่สุดมาได้    อย่างน่าภูมิใจ”  กิ๊กกล่าว
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง