ก.วัฒนธรรม แนะ 4 วิธีแก้วิกฤตวัฒนธรรมไทย
นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องวัฒนธรรมประเพณีไทยที่เปลี่ยนไปในโลกโลกาภิวัฒน์ ในงานสัมมนา "วิกฤติประเพณีไทย: แก้อย่างไร ใครจะแก้?" ซึ่งจัดโดย คณะกรรมาธิการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา ในวันนี้ (24 ส.ค.) ว่า วัฒนธรรมถือเป็นระบบใหญ่ของสังคม ซึ่งนับว่าใหญ่กว่าระบบรัฐ โดยในปัจจุบันระบบวัฒนธรรมที่มีคุณค่าดั้งเดิมอยู่ในตัวนั้นเปลี่ยนไปเป็นวัฒนธรรมที่มีมูลค่า ท่ามกลางยุคสมัยเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรม มีการไหลบ่าทางกระแสนิยมอย่างรวดเร็ว ซึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือการปะทะกันทางวัฒนธรรมทางตะวันตกและวัฒนธรรมทางตะวันออก
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า นักวิชาการได้มองโลกในศตวรรษที่ 21 ว่า ได้เกิดสงครามวัฒนธรรมแทรกตัวอยู่ทั่วโลกมีการพยายามของโลกตะวันตกที่จะเผยแพร่และสร้างรสนิยมทางวัฒนธรรมให้กับประชาชนทั่วโลก อาทิ การสวมใส่กางเกงยีนส์ เครื่องดื่มน้ำอัดลมยี่ห้อต่าง ๆ และการรับประทานอาหารจานด่วนซึ่งกลายเป็นกระแสหลักไปทั่วโลก
แต่ในขณะเดียวกันก็มีการต่อต้านจากวัฒนธรรมท้องถิ่นเช่นกันเห็นได้จากภูมิภาคตะวันออกกลาง บางประเทศที่ปฏิเสธกระแสทางตะวันตกที่จะเข้ามาครอบงำประเทศจนเกิดการใช้ความรุนแรงและเลยไปจนถึงการใช้สงครามอาวุธ แต่อีกทางเลือกหนึ่งก็คือการใช้รูปแบบวัฒนธรรมลูกผสม เพราะสามารถใช้การอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาวัฒนธรรมใหม่ได้ โดยดูแลไม่ให้การเปลี่ยนแปลงไปกระทบกับคุณค่าวัฒนธรรมเก่า
นอกจากนี้ นายสมชาย ยังแนะถึงการตั้งรับกระแสวิกฤติวัฒนธรรม ว่า 1.การมองบริบทสังคมไทยว่า กฏ กติกาของไทยนั้นเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันเพียงใด 2.ให้ความสนใจไปยังกิจกรรมที่ดี และสร้างสรรค์มากกว่าการเพ่งเล็งไปยังกิจกรรมที่เกิดปัญหา เช่น ประเพณีการขึ้นปีใหม่ที่ปัจจุบันเยาวชนนิยมเข้าร่วมโครงการสวดมนต์ข้ามปีมากขึ้น นอกเหนือจากการเที่ยวตามสถานบันเทิง 3.เรียนรู้วัฒนธรรมอย่างมีสติ และ 4.แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานร่วมกัน ใช้การบูรณาการร่วมกันทั้งหน่วยงานที่ทำงาน เพื่อการบูรณาการของวัฒนธรรมที่ต่างกันอย่างเหมาะสม และการมีส่วนร่วมแก้ไขหรือดูแล ได้แก่ สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษาสถาบันศาสนา สื่อมวลชน รัฐ ชุมชนและบริษัทเอกชน และเยาวชน
แท็กที่เกี่ยวข้อง: