เอกชนสนใจประมูลงานจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท-นักวิชาการค้าน รบ.เจตนาเบิกงบฯมากกว่าบรรเทาปัญหา
ในงานนิทรรศการบริหารจัดการน้ำ ตามแนวพระราชดำริ ที่รัฐบาลจัดขึ้น มีตัวแทนสถานทูต เอกชน และสื่อมวลชนทั้งไทย และเทศ ให้ความสนใจเข้าร่วมงานอย่างคึกคัก
นายสุเมธ สุรบถโสภณ รองประธานบริหาร บริษัทอิตาลีเลี่ยนไทย ดีเวล็อปเมนต์ ระบุว่า สนใจงานออกแบบและก่อสร้างโครงการจัดการ ตามลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นพิเศษ ซึ่งขณะนี้บริษัทกำลังเร่งหารือกับบริษัทร่วมทุนที่ปรึกษาแต่ละด้าน ทั้งการจัดการน้ำ ระบบป้องกัน และระบบเตือนภัย ทั้งกับบริษัทไทย และจีน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในต้นเดือนนี้ พร้อมยื่นเอกสารคุณสมบัติเพื่อเข้าร่วมประมูลงานออกแบบและก่อสร้างแน่นอน
เช่นเดียวกับยูน บวง ฮูน รองประธานกรรมการบริหารบริษัท เค วอร์เตอร์ รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงที่ดิน การขนส่งทางบก และทางน้ำ ของประเทศเกาหลีใต้ ระบุว่า สนใจดำเนินงานทุกโครงการ จากทั้งหมด 8 โครงการ ภายใต้วงเงินกู้ 350,000 ล้านบาท โดยจะใช้ประสบการณ์ที่เคยเข้าร่วมประมูลงานกับรัฐบาลไทย และความเชี่ยวชาญด้านการจัดการมวลชน เป็นจุดเด่นแสดงศักยภาพ แต่ยอมรับว่า บริษัท ยังไม่ได้ประเมินความเสี่ยง หากรัฐบาลไทย ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่งานก่อสร้างได้ เพราะมองว่า หลักเกณฑ์การประมูล หรือ ทีโออาร์ เหมาะสมแล้ว
นายสุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา ม.เกษตรศาสตร์ ระบุว่า ขณะนี้มีตัวแทนจากสถานทูตสหรัฐอเมริกา ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบ และหาข่าวเชิงลึกถึงแนวโน้มที่ รัฐบาลไทย จะตกลงทำสัญญากับตัวแทนบริษัทผู้รับเหมาของจีน หลังจากคณะรัฐมนตรี อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านทรัพยากรน้ำและการชลประทานไทย กับสาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลีใต้
ขณะที่แวดวงนักวิชาการและวิศวกรชลประทานหลายคน เป็นห่วงว่า โครงการประมูลโครงสร้างจัดการน้ำ อาจไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่ง รศ.วราวุฒิ วุฒิวณิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรม ชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ อธิบายว่า รัฐบาลข้ามขั้นตอนศึกษาทางเทคนิควิศวกรรม การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและชุมชน
แต่กำหนดพื้นที่ที่ต้องการให้บริษัทเอกชนเข้าไปรับงานก่อสร้างแล้ว อาจถูกมวลชนต่อต้านรุนแรง ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างงาน จนรัฐต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหาย หรือ ค่าโง่ ทั้งที่ มีบทเรียนในอดีต เช่นโครงการโฮปเวลล์ เรื่องนี้ อาจสะท้อนเจตนาว่า รัฐบาล ต้องการเบิกจ่ายงบประมาณ แต่ไม่คำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ตามที่กล่าวอ้าง ทิ้งความเสียหายไว้ให้คนรุ่นลูกหลาน ต้องรับผลจากการตัดสินใจที่ขาดความรับผิดชอบครั้งนี้