กระแสการพัฒนากับอนาคต "อัมพวา" บนวิถีชีวิตของชาวแม่กลอง

2 ก.ย. 55
14:41
658
Logo Thai PBS
กระแสการพัฒนากับอนาคต "อัมพวา" บนวิถีชีวิตของชาวแม่กลอง

ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปี ที่คลองอัมพวา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ถูกพัฒนาเป็นตลาดน้ำจนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ขณะเดียวกัน ตลาดน้ำอัมพวา ก็กลายเป็นเป้าหมายของการลงทุน จากทั้งคนในและนอกพื้นที่ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจกับกระแสอนุรักษ์นิยม

<"">
<"">

สภาพห้องแถวไม้เก่า ริมคลองอัมพวา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ประมาณ 12 ห้องที่กำลังจะถูกรื้อหลังเจ้าของขายให้กับโครงการแห่งหนึ่ง ที่กำลังก่อสร้างโรงแรมใกล้ตลาดน้ำอัมพวา ทำให้ชื่อของ "อัมพวา" กลายเป็นกระแสที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ครั้งทั้งจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม ผู้ได้ผลประโยชน์ รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่

อาคารบ้านเรือนเก่าแก่และบรรยากาศวิถีชีวิตของชาวตลาดน้ำอัมพวาเสน่ห์เหล่านี้ นอกจากเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแล้วศิลปินนักอนุรักษ์บางคน เชื่อว่า อัมพวา เป็นสิ่งที่สร้างความผูกพันของคนในพื้นที่หากมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นในอนาคตชาวอัมพวาเองเท่านั้นที่จะตระหนักในการ "ตอบรับ" หรือ "ปฏิเสธ" ความศิวิไลซ์

ตลอดเวลาเกือบ 10ปี ตลาดน้ำอัมพวา กลายเป็นเป้าหมายของการลงทุน จากทั้งคนในและนอกพื้นที่ที่ผ่านมาหลายโครงการได้ทำประชาพิจารณ์ รวมทั้งโครงการก่อสร้างโรงแรมและปรับปรุงห้องแถวไม้เก่า ที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งนายมานะชัย ทองยัง เครือข่ายประชาคมคนรักแม่กลอง เห็นว่า เป็นการรับฟังความเห็นไม่ทั่วถึงและไม่ได้คำนึงถึงรูปแบบของสถาปัตยกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับชุมชนดั้งเดิม

ขณะที่ นายชูชัย ชัยฤทธิเลิศ เจ้าของโครงการชูชัยบุรี ศรีอัมพวานักธุรกิจ ยืนยันว่า ได้ทำประชาพิจารณ์และทำความเข้าใจกับชาวบ้านบางส่วนก่อนหน้านี้ ส่วนโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่ถูกมองว่า ไม่สอดคล้องกับพื้นที่อนุรักษ์ยืนยัน ไม่มีเจตนาทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิม

“อัมพวา”เป็นชุมชนเล็ก ๆ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีความเจริญทั้งด้านการเกษตรและพาณิชย์ มีลำคลองกว่า 300 สายเชื่อมวิถีชีวิตของชุมชนมาอย่างช้านาน คลองอัมพวาเป็นลำคลองสายหนึ่งที่ถูกพัฒนาเป็นตลาดน้ำและสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง

โครงการอนุรักษ์มรดกชุมชนอัมพวาโดยเฉพาะเป้าหมายการอนุรักษ์ชุมชนและสถาปัตยกรรมที่มีอายุมากกว่า 50 ปีได้รับรางวัลชมเชยจากองค์การยูเนสโก้ เมื่อปี พ.ศ.2551จากการประกวดรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค


ข่าวที่เกี่ยวข้อง