ป.ป.ท.ตรวจทุจริตงบภัยพิบัติด้านพืช

การเมือง
17 ก.ย. 55
02:50
116
Logo Thai PBS
ป.ป.ท.ตรวจทุจริตงบภัยพิบัติด้านพืช

รองเลขาธิการ ป.ป.ท. เผย ป.ป.ท.พบทุจริตงบช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินช่วยเกษตรใน 20 จังหวัดภาคอีสานส่อโกงวงเงินถึง 5,000 ล้าน ชี้เฉพาะอุบลราชธานีจังหวัดเดียว 1,200 ล้านบาท

นายประยงค์ ปรียาจิตต์ รองเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. กล่าวถึงการตรวจสอบการใช้งบประมาณ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ด้านพืช เช่น โรคระบาดที่เกิดขึ้นกับพืชเศรษฐกิจทั้งยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่พบว่าสูงผิดปกติ

โดยระบุว่า ป.ป.ท.ได้รับข้อมูลจากคณะอนุกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ซึ่งตรวจสอบ พบว่า 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการใช้งบประมาณดังกล่าวในปี 2553-2555 ผิดปกติรวมเป็นเงินกว่า 5,000 ล้านบาท โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งพบว่ามีการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวถึง 1,200 ล้านบาท

เบื้องต้น พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ เลขาธิการ ป.ป.ท. สั่งการให้ตั้งคณะทำงานพร้อมลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบ 4 อำเภอในจังหวัดอุบลราชธานี คือ อำเภอโขงเจียม อำเภอน้ำยืน อำเภอวารินชำราบ และ อำเภอเมือง พบพฤติกรรมผิดปกติในหลายประเด็น ทั้งการตั้งเบิกงบประมาณทั้งที่ไม่ได้เกิดภัยพิบัติจริง มีการทำเอกสารย้อนหลังในพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติเพื่อให้ได้งบประมาณมากขึ้น หรือกรณีที่มีภัยพิบัติแต่ประเมินความเสียหายสูงเกินจริง

สำหรับกรณีซื้อยาปราบศัตรูพืช คณะกรรมาธิการต้องการให้ ป.ป.ท.เข้าสืบสวนให้ได้ข้อเท็จจริง เพราะประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนมาก โดยผลการตรวจสอบ พบว่ามีการจัดซื้อยาแพงกว่าราคาปกติ 8-10 เท่า โดยราคาขายส่งขวดละ 230 บาทต่อ 1,000 ซีซี ราคาในท้องตลาดประมาณ 280-300 บาท แต่การจัดซื้อของราชการในราคาสูงถึง 1,712 บาท

นอกจากนี้ ยังพบว่ายาหลายตัวเป็นยาปลอมเนื่องจากกรรมาธิการได้เรียกบริษัทผู้ผลิตยาปราบศัตรูพืชมาสอบถาม พบว่ายาบางตัวบริษัทเลิกผลิตไปแล้ว ขณะเดียวกัน ยังพบความผิดปกติของบริษัทที่ทำสัญญาซื้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืช คือมีบุคคลต้องสงสัยทำหน้าที่ยื่นใบเสนอราคาของบริษัทที่เกี่ยวข้อง 8 บริษัท ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด ซึ่งในการยื่นเสนอราคาจะมีใบสั่งเจาะจงเลือกบริษัทรับงาน กำหนดประเภทยา และราคายา

โดยบริษัทหลายแห่ง เมื่อตรวจสอบแล้วไม่ได้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยาปราบศัตรูพืช ทำให้เชื่อได้ว่ามีการทุจริตในการจัดซื้อ และฮั้วประมูล ซึ่งบริษัทเหล่านี้บางแห่งเพิ่งจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทได้เพียง 1 ปี แต่มีเงินหมุนเวียนหลักพันล้านบาท เบื้องต้นผู้ที่ต้องรับผิดชอบเรื่องดังกล่าวคือผู้ลงนามในสัญญา และผู้ตรวจรับงาน ส่วนเจ้าหน้าที่ระดับสูงจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง