อุตฯคึกคักโครงการใหญ่เกินพัน ล้านบาท แห่ตั้งโรงงานส่วนกระแสเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

เศรษฐกิจ
17 ก.ย. 55
13:48
100
Logo Thai PBS
อุตฯคึกคักโครงการใหญ่เกินพัน ล้านบาท แห่ตั้งโรงงานส่วนกระแสเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

 ข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม รายงานว่า ช่วง 8 เดือนของปี 2555 มีโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าเกิน 1,000 บาทขึ้นไปได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 12 โครงการ วงเงินรวม 22,748 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร พลังงาน และการสร้างโรงสีข้าว เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มดีเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในอนาคต รวมถึงการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)  เบื้องต้นแม้จะเป็นปริมาณที่ไม่สูงนักหากเทียบกับปีก่อนแต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่มีโครงการใหญ่เข้ามาตั้งโรงงานช่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว 

 
สำหรับโครงการที่มีมูลค่าเกิน 1,000ล้านบาท เช่น โรงไฟฟ้ากำแพงเพชร ไบโอเอนเนอยี่ ผลิตพลังงานไฟฟ้า เงินทุน 2,235 ล้านบาท, บริษัท โซนี่ ดีไวซ์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตและทดสอบเซมิคอนดัคเตอร์ เงินทุน 1,661 ล้านบาท, บริษัท คูโบต้า เอ็นจิ้น (ไทยแลนด์) จำกัด ผลิตประกอบเครื่องยนต์ดีเซล เงินทุน 1,989 ล้านบาท , บริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด จำกัด สีข้าวและขัดข้าว เงินทุน 1,080 ล้านบาท 
 
บริษัทเบ็ญจวรรณไรซ์ ลงทุนโรงสีข้าว 2,004 ล้านบาท, บริษัท แอ๊ดวานซ์ เอเซียไฟเบอร์ จำกัดผลิตแผ่นใยไม้อัดแข็ง 2,024 ล้านบาท, บริษัท อาซาฮี คาเซอิ สปันบอนด์ ผลิตผ้าสปันบอนด์นอนวูฟเวนทุกชนิด และผ้าสปันบอนด์นอนวูฟเวนกึ่งสำเร็จรูปทุกชนิด 1,668 ล้านบาท 
 
บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป 2,355 ล้านบาท , บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด 3,288ล้านบาท, บริษัท ระยองเอ็มดีเอฟ จำกัด1,993ล้านบาท, บริษัท ไทย โคะอิโท จำกัด1,451 ล้านบาท และ บริษัท ไทยยงกิจ จำกัด ผลิตอะไหล่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ และอุปกรณ์การเกษตร และทำแบบพิมพ์โลหะ มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท 
 
ส่วนภาพของของผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการจากกรมโรงงานอย่างไม่เป็นทางการในช่วง 8 เดือนแรกมีทั้งหมด 2,480 รายลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 87 ราย มูลค่าลงทุน 86,079 ล้านบาทลดลงถึง 63,867 ล้านบาท เนื่องจากนักลงทุนชะลอแผนการก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่ออกไปก่อนจากความกังวลสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ในปีหน้าหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าจะประสบปัญหาหนักทั้งเศรษฐกิจยุโรป, สหรัฐ, จีน, ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง 
 
ขณะเดียวกันบางส่วนเปลี่ยนแผนไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อหลีกเลี่ยงนโยบายการปับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลวันละ 300 บาททั่วประเทศที่จะมีผลในวันที่ 1 ม.ค. 56 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก และการรุกตลาดในอาเซียนรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 58 
 
“แม้ว่าจะมีมูลค่าลงทุนไม่สูงเหมือนปีก่อนแต่ยอดการอนุมัติในระดับนี้ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เพราะส่วนหนึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีความเข้มงวดในการออกใบอนุญาตอยู่แล้วโดยเฉพาะโรงงานที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดใหญ่และที่สำคัญหลายโครงการก็จะถูกต่อต้านจากชุมชนเช่นกัน” 
 
ส่วนยอดอนุมัติจัดตั้งโรงงานในเดือน ส.ค. 55 มีจำนวน 275 ราย ลดลง 84 ราย มูลค่าลงทุน 12,413 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,965 ล้านบาท โดยจังหวัดที่มีการลงทุนมากที่สุดคือ จ.สมุทรปราการ 27 โรงงาน มูลค่า 2,683 ล้านบาท กำแพงเพชร 2 โรงงาน มูลค่า 2,245 ล้านบาท ปทุมธานี 15 โครงการ มูลค่า 941 ล้านบาท ลพบุรี 3 โรงงาน มูลค่า 916 ล้านบาท และสระบุรี 2 โรงงาน 724 ล้านบาท 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง