ทำความเข้าใจพายุ "แกมี" ความแตกต่างของฝนที่เกิดจากพายุ-ฝนทั่วไป

6 ต.ค. 55
14:03
276
Logo Thai PBS
ทำความเข้าใจพายุ "แกมี" ความแตกต่างของฝนที่เกิดจากพายุ-ฝนทั่วไป

พายุโซนร้อนแกมีสร้างความสนใจให้กับประชาชนอย่างมาก เพราะจะทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลันได้ในหลายพื้นที่ ซึ่งในอดีตประเทศไทยเคยประสบกับพายุหลายลูก ที่มีระดับความรุนแรงของพายุแตกต่างกัน สำหรับพายุโซนร้อนแกมี นักอุตุนิยมวิทยาคาดว่า เมื่อขึ้นฝั่งเวียดนามแล้วจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น ลักษณะฝนที่เกิดจากพายุนี้เป็นอย่างไรและมีความแตกต่างจากฝนทั่วไปอย่างไร?

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2532 พายุไต้ฝุ่นเกย์ ได้เคลื่อนตัวเข้าถล่ม จ.ชุมพร สร้างความเสียหายให้ทรัพย์สินของชาวบ้าน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 400 คน นับเป็นพายุที่มีความรุนแรงมากที่สุดลูกหนึ่งที่เคลื่อนตัวมายังประเทศไทย แต่พายุไต้ฝุ่นเกย์แตกต่างจากพายุโซนร้อนแกมีที่กำลังจะมีอิทธิพลกับประเทศไทย เพราะพายุไต้ฝุ่นเกย์ ก่อตัวในอ่าวไทย ส่วนพายุโซนร้อนแกมีก่อตัวในทะเลจีนใต้ และกำลังของพายุแตกต่างกัน

ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุหลายลูกที่ก่อตัวในทะเลจีนใต้ เช่น ปี 2533 มี 3 ลูกส่งผลให้น้ำท่วมภาคกลาง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร

สถิติในรอบ 61 ปีที่ผ่านมา มีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ทั้งหมด 183 ลูก มี 13 ครั้งที่เป็นพายุโซนร้อน หรือไต้ฝุ่น พายุแต่ละระดับแบ่งตามความเร็วลมสูงสุด ที่บริเวณใกล้ศูนย์กลาง โดยเริ่มก่อตัวขึ้นจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง เป็นพายุดีเปรสชั่น มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 63 กม./ชม. เมื่อเกิน 63 กม./ชม. แต่ไม่ถึง 118 กม./ชม. เป็นพายุโซนร้อน และเมื่อเกิน 118 กม./ชม. ขึ้นไป จะเรียกว่าพายุไต้ฝุ่น ซึ่งถ้าพายุโซนร้อนขึ้นฝั่งแล้วจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น ลักษณะคือ ไม่มีลมแรง เป็นฝนโปรยที่ฝนตกต่อเนื่องตลอดเวลา จึงมีปริมาณน้ำฝนมาก หากตกในพื้นที่ที่ดินอิ่มตัว จะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งกระบวนการเกิดฝนและพื้นที่แตกต่างจากฝนที่ตกตามฤดูกาล

ธรรมชาติของพายุจะทวีกำลังขึ้นขณะอยู่ในทะเล ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อุณหภูมิน้ำทะเลที่เหมาะสม คือ 26 หรือ 27 องศาเซลเซียสขึ้นไป และมีความชื้นหรือไอน้ำที่ไปเลี้ยงที่ตัวพายุ ภายในพายุจะมีตาพายุหรือศูนย์กลาง เป็นลมหมุนวน ดึงเอาไอน้ำจากทะเลไป ก่อตัวเป็นเมฆในทางตั้ง หรือเมฆฝนฟ้าคะนองหลายๆก้อนรวมไว้ด้วยกัน มักเคลื่อนตัวตามกระแสลม ส่วนใหญ่จากทิศตะวันออกมาทางทิศตะวันตก และเมื่อเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งจะอ่อนกำลังลง เพราะไม่มีอุณหภูมิน้ำทะเล และความชื้นไปเลี้ยง และมีแรงเสียดทานบนแผ่นดิน และถ้ามีมวลอากาศเย็นเข้ามาใกล้พายุก็ยิ่งทำให้สลายตัวเร็วขึ้น เช่นเดียวกับพายุโซนร้อนแกมี ที่จะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น หลังขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง