คอนเสิร์ตดนตรีร่วมสมัยโดยเยาวชนอาเซียน

Logo Thai PBS
คอนเสิร์ตดนตรีร่วมสมัยโดยเยาวชนอาเซียน

ไปฟังดนตรีร่วมสมัยจากการฝึกซ้อมร่วมกันของเยาวชนอาเซียน เบื้องหลังบทเพลงไพเราะยังมีมิตรภาพดีๆ ที่เป็นความหวังของอนาคตดนตรีร่วมสมัยในอาเซียน

ทำนองแปลกหู บรรเลงจังหวะช้า - เร็วสลับไปมาตลอดทั้งเพลง เปรียบตัวโน๊ตให้เป็นเหมือนความวูบวาบของแสงสว่าง คือเอกลักษณ์ของดนตรีร่วมสมัยที่เน้นการตีความเหตุการณ์ต่างๆ ให้เป็นเสียงดนตรี ในบทเพลง Forming lights - Dispersing Shadows บรรเลงโดยนักดนตรีเยาวชน 30 คน จาก 4 ประเทศ ทั้งไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเยอรมนี ในคอนเสิร์ต ASEAN Contemporary Music Ensemble & Studio musikFabrik Project ไม่เพียงได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมของชาวต่างชาติผ่านเสียงดนตรี หากยังเป็นโอกาสเพิ่มพูนประสบการณ์ และพัฒนาความสัมพันธ์กับนักดนตรีจากประเทศเพื่อนบ้านก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า 
 
กมลพร วงศ์เจริญชัย นักดนตรีเยาวชนโครงการ ACME กล่าวว่า ได้ทั้งเรียนรู้วัฒนธรรมของเพื่อนบ้านด้วย เขากินอยู่ยังไง แตกต่างจากเรายังไง และในการเล่นดนตรีของแต่ละคนก็จะมีกลิ่นอายประจำชาติของเขาสอดแทรกอยู่

อโณทัย นิติพน ผู้จัดการโครงการคอนเสิร์ต ACME กล่าวว่า เป็นการปูทางสู่อาเซียน ทั้งในแง่ Connection วัฒนธรรม และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคดนตรีของประเทศเพื่อนบ้าน

แม้ดนตรีร่วมสมัยจะไม่เป็นที่นิยมในเอเชียมากนัก หากตลอด 1 สัปดาห์ที่ได้เข้าร่วมอบรมกับครูเพลงชาวตะวันตกที่เป็นต้นกำเนิดของดนตรีแนวนี้ ช่วยเปิดโลกทัศน์ของเยาวชนตัวแทนจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เข้าใจพื้นฐานของดนตรีร่วมสมัย เพื่อนำไปพัฒนาฝีมือต่อไปในอนาคต คอนเสิร์ตหลังการอบรม ยังเป็นพื้นที่แสดงความสามารถของคนดนตรีรุ่นใหม่ โดยก่อนหน้านี้ได้แสดงที่ประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซียมาแล้ว

สุภัค วิทยานุกูลลักษณ์ นักดนตรีเยาวชนโครงการ ACME กล่าวว่า บางคนรับไม่ได้เลยกับดนตรีแบบ Comtemporary ซึ่งถือว่าใหม่มากๆ ในบ้านเรา ผมเองตอนแรกยังงงกับดนตรีร่วมสมัย แต่การได้ไปเรียนรู้กับเขาก็ถือว่าได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ เยอะมาก

ปีเตอร์ วีลล์ วาทยากรวงASEAN Contemporary Music Ensemble กล่าวว่า ต้องการให้ดนตรีร่วมสมัยเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ฟัง และยังเป็นการปูทางให้กับนักดนตรีร่วมสมัยรุ่นใหม่ในอาเซียนด้วย

ASEAN Contemporary Music Ensemble & Studio musikFabrik Project รวบรวมเยาวชนตัวแทนจากไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ประเทศละ 5 คน เข้าค่ายฝึกฝนทักษะดนตรีร่วมกับเยาวชนจากประเทศเยอรมนีอีก 15 คน โดยมีผู้เชี่ยวชาญให้การอบรมอย่างใกล้ชิด และหวังเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมช่วยเปิดพื้นที่ สร้างกระแสนิยมดนตรีร่วมสมัยในกลุ่มประเทศอาเซียน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง