เรียลลิตี้โชว์หาประโยชน์ จากผู้เสพยาเสพติด

Logo Thai PBS
เรียลลิตี้โชว์หาประโยชน์ จากผู้เสพยาเสพติด

การเสียชีวิตของ มินดี แม็คเครดี นักร้องสาวชื่อดัง ซึ่งตำรวจ สันนิษฐานว่าฆ่าตัวตาย มีสาเหตุมาจากโรคซึมเศร้าและยาเสพติด นอกจากนี้มีเสียงวิจารณ์ถึงรายการเรียลลิตี้ โชว์ ที่เธอเคยไปร่วมรายการ ซึ่งมีจุดขายอยู่ที่การนำคนดัง ที่เป็นผู้ป่วยจากการเสพยามาบำบัดออกโทรทัศน์ เพื่อหวังสร้างเรตติ้ง แต่สุดท้ายไม่สามารถบำบัด และทำให้หลายคนเสียชีวิตหลังจากไปร่วมรายการนี้

มินดี แม็คเครดี นักร้องสาวแนวคันทรีชื่อดัง เสียชีวิตอายุ 37 ปี ด้วยการยิงตัวตาย ภายในบ้านพักที่เมืองคลีเบิร์น เคาท์ตี้ รัฐอาร์คันซอ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งการสูญเสียครั้งล่าสุดของคนวงการบันเทิงที่เคยร่วมรายการ Celebrity Rehab with Dr. Drew เรียลลิตี้ โชว์ ที่มีจุดเด่น โดยการนำคนดังที่ติดสุรา หรือ ยาเสพติดมาบำบัด แต่พบว่า 2 ปีที่ผ่านมา มีคนดังที่มาออกรายการ เสียชีวิตเพราะปัญหายาเสพติด จำนวน 5 คน

รายการ Celebrity Rehab with Dr. Drew เริ่มออกอากาศตั้งแต่ปี 2008 ดำเนินรายการโดย ดรูว์ พินสกี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดผู้ป่วยจากการเสพติด โดยฤดูกาลแรก เจฟ คอนาเวย์ อดีตนักแสดงจากหนังดังเรื่อง Grease ที่เข้ารับการบำบัด แต่เสียชีวิตใน 3 ปีต่อมา จากอาการปอดอักเสบ ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากการเสพยา ต่อด้วย ฤดูกาลที่ 2 ที่ รอดนีย์ คิง ผู้จุดกระแสการจราจลครั้งใหญ่ใน ลอส แองเจลิสเมื่อปี 1991 เสียชีวิตเมื่อปี 2555 จากอุบัติเหตุจมน้ำในบ้านพักเพราะความมึนเมา และในฤดูกาลที่ 3 ซึ่งมี ไมค์ สตาร์ อดีตมือเบสของวง Alice in Chains และ โจอี้ โควาร์ อดีตนักแสดงเรียลลิตี้ โชว์ มาร่วมบำบัด แต่ทั้ง 2 คน เสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาด

ข่าวการเสียชีวิตของ มินดี แม็คเครดี ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ต่อตัวรายการที่ไม่สามารถบำบัดผู้ป่วยได้ ทั้ง ริชาร์ด มาร์กซ์ นักร้องดัง ที่ทวิตข้อความเปรียบเทียบ นายแพทย์พินสกี ผู้ดำเนินรายการ เป็นดร.แจ็ค เควอร์เคียน เจ้าของฉายาแพทย์แห่งการฆ่าตัวตาย ส่วน แดนนี ซูเคอร์ ผู้ผลิตซีรีย์ชั้นนำ Modern Family ชี้ว่าอัตราการเสียชีวิตถึงร้อยละ 10 ของผู้ร่วมรายการนั้น มากเกินไป และวิจารณ์พินสกีว่าเป็นแพทย์ที่หาประโยชน์จากคนดังในช่วงที่พวกเขาต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด

ตามสถิติในปี 2010 มีชาวสหรัฐฯ ฆ่าตัวตายกว่า 3,800ราย หรือเฉลี่ย 105 คนต่อวัน โดยพบว่า 1 ใน 3 มีผลมาจากจากการดื่มสุรา และร้อยละ 20 พบสารเสพติดในร่างกาย แม้ไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงอัตราการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยหลังการบำบัด แต่พบว่าผู้มีประวัติเสพยามีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไป

ขณะที่รองศาสตราจารย์ ดร. ชารอน เฮิร์ช แห่งภาควิชาจิตเวช และประสาทวิทยาศาสตร์ ม.ชิคาโก กล่าวว่ารายการ Celebrity Rehab ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความอันตรายของยาเสพติดและปัญหาจากโรคซึมเศร้า ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต เหมือนโรคหัวใจหรือมะเร็ง แต่การบำบัดผู้ป่วยจำเป็นต้องมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเธอไม่คิดว่าการนำผู้ป่วยมารักษาโดยนำมาออกรายการ เรียลลิตี้ โชว์จะช่วยอะไรได้ สำหรับเธอแล้วรายการเป็นแค่ความบันเทิงไม่ใช่การบำบัดที่แท้จริง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง