สิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ยา กระทบการผูกขาดสิทธิบัตรยา
เครือข่ายนักวิจัยด้านระบบยาเเละระบบสาธารณสุข กล่าวระหว่างการประชุมนำเสนอผลวิจัย"สิทธิบัตรยาที่มีลักษณะ ไม่มีวันสิ้นสุดในประเทศไทย" หรือ Evergreening ว่า ข้อกังวลต่อปัญหาสิทธิบัตรยาของไทย ที่ยังขาดประสิทธิภาพ อาจส่งผลต่อภาระงบประมาณเเละเป็นข้อจำกัดทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงยา ซึ่งจากการวิจัยพบว่า การขอลักษณะเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการบริโภคยา เเละตลาดยาของประเทศ
ก่อนหน้านี้ทีมวิจัยได้นำรายการยาจำนวน 59 รายการ ที่มียอดการใช้สูงสุด นำมาวิเคราะห์ผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านยาพบว่า ส่วนใหญ่เป็นคำขอรับสิทธิบัตรเเบบ Evergreening ที่ส่งผลให้มีการผูกขาดตลาด ตั้งเเต่ปี 2539-2571 คิดเป็นมูลค่าสะสมประมาณ 8,477 ล้านบาท เเละหากพิจารณาเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้น ตั้งเเต่ปี 2539-2553 จะพบว่า ประเทศไทยเสียโอกาสในการประหยัดงบประมาณไปเเล้ว 1,177 ล้านบาท และผลการวิจัย พบว่า การขอจดสิทธิบัตรในลักษณะดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อความก้าวหน้าของนักวิจัยไทย ในการพัฒนาตัวยาใหม่ๆ เเละยังกีดกันยาชื่อสามัญเข้าสู่ตลาด ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียโอกาสในการเข้าถึงยา
ทั้งนี้กลยุทธ์ดังกล่าว ถูกใช้อย่างมากในประเทศที่ระบบสิทธิบัตรยาไม่มีคุณภาพ ซึ่งในปี 2550 องค์การอนามัยโลก ได้จัดทำเกณฑ์การตรวจสอบสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ยา สำหรับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตร เพื่อเป็นเเนวทางในการปฏิบัติ และพิจารณาว่าผลิตภัณฑ์ยานั้น ควรได้รับสิทธิบัตรหรือไม่ ปัจจุบันมีผู้ขอรับสิทธิบัตรเเบบ Evergreening เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 84 จากจำนวน 2,188 คำขอ เพราะหวังที่จะได้รับการคุ้มครองต่อเนื่องอย่างน้อย 20 ปี เเละมีเเนวโน้มที่อาจได้รับการคุ้มครองมากกว่านั้น
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
-