ศาลวินิจฉัยสืบพยานต่างประเทศคดีอุ้มฆ่านักธุรกิจซาอุดิอาระเบีย ขัดรธน.

อาชญากรรม
14 มี.ค. 56
03:18
187
Logo Thai PBS
ศาลวินิจฉัยสืบพยานต่างประเทศคดีอุ้มฆ่านักธุรกิจซาอุดิอาระเบีย ขัดรธน.

แม้ศาลอาญา อนุญาตให้มีการสืบพยานต่างประเทศ คดีอุ้มฆ่านายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย แต่ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ ได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การสืบพยานต่างประเทศนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ขณะนี้ต้องรอคำสั่งจากศาลอาญาอีกครั้งว่า จะให้ดำเนินการอย่างไร

สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารข่าว ถึงการพิจารณาคำร้องที่ศาลอาญาส่งคำโต้แย้งของ พล.ต.ท.สมคิดบุญถนอม อดีตจเรตำรวจแห่งชาติ จำเลยในคดี อุ้มฆ่านายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย ที่หายตัวไปตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งจำเลยได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 มาตรา 36, 37, 38, 39 และ 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ โดยจำเลยได้โต้แย้งว่า พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา ไม่ได้กำหนดวิธีการสืบพยานให้จำเลย สามารถตามประเด็นไปสืบได้ ถือเป็นการขัดหรือแย้งต่อการสืบพยานต่อหน้าจำเลย และตามที่บัญญัติให้พยานหลักฐานที่ได้มาตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว สามารถรับฟังได้ มีผลให้จำเลยเสียเปรียบและไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ สำหรับกรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว โดยมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เห็นว่า พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 36, 37, 38 และ 39

นอกจากนี้ ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เห็นว่า พ.ร.บ. ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 มาตรา 41 ที่บัญญัติให้บรรดา พยานหลักฐานและเอกสารที่ได้มาตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้ถือว่าเป็นพยานหลักฐานและเอกสารที่รับฟังได้ตามกฎหมายนั้น ขัดต่อหลักนิติธรรมและเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิของจำเลยในคดีอาญา เพราะเป็นพยานหลักฐานที่จำเลยไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบหรือรับทราบและไม่มีโอกาสต่อสู้คดีได้อย่างเป็นธรรม ตลอดจนไม่มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือทางคดีจากทนาย อันเป็นการกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ ที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ด้าน นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวว่า ต้องดูคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญส่งมายังศาลอาญาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง และจะนำเรื่องนี้เข้าประชุมกับองค์คณะและผู้บริหารศาลอาญา ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับเรื่องที่ศาลอาญา มีคำสั่งให้ส่งประเด็นไปสืบพยานในต่างประเทศแล้ว

ขณะที่นายรุจ เขื่อนสุวรรณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องแล้วแต่ศาลอาญา ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะทางอัยการ ทำไปเต็มที่ตามขั้นตอนของกฎหมายแล้วโดยพยายามแสวงหาข้อเท็จจริงให้ได้มากที่สุดแล้ว ก่อนหน้านี้ก็เปิดโอกาสให้จำเลยถามค้านแล้ว แต่จำเลยไม่กระทำ

ด้าน น.ส.รัศมี ไวยเนตร ทนายความของจำเลยที่ 4 ในคดีนี้ กล่าวว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินมา ถือว่าพยานปากนี้เป็นพยานที่สืบลับหลังจำเลยซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ รวมทั้งขัดต่อ ป.วิอาญา มาตรา 172 ซึ่งระบุไว้งาส การพิจารณาคดีและสืบพยานจะต้องกระทำต่อหน้าจำเลย เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานตามกฎหมายได้ โดยวันที่ 20 พ.ค.นี้ ศาลนัดพร้อมคู่ความเพื่อสอบถามความคืบหน้าการส่งประเด็นไปสืบต่างประเทศอีกครั้ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง